สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานสถานการณ์ภัยแล้งเดือนธันวาคม 2552 จนถึงมีนาคม 2553 พบ มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่จำนวน 22,546 ไร่ ย้ำพื้นที่ที่เสียหายมาก คือ ข้าวนาปรังที่อยู่นอกเขตชลประทาน
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการรายงานสถานการณ์ภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2552 จนถึง วันที่ 12 มีนาคม 2553 พบว่า มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยแล้งในหลายจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 22,546 ไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 11,205 ไร่ พืชไร่ (ถั่วเหลือง ข้าวโพดรุ่น 2 ถั่วลิสง อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวโพดหวาน) 8,736 ไร่ พืชสวน 2,605 ไร่ และปศุสัตว์ มีพื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง สุโขทัยและตรัง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ คือ โค กระบือ จำนวน 3,783 ตัว
โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรนั้น สศก.ได้ประเมินผลกระทบปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ซึ่งใช้ข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่เสียหายตามรายงานของกระทรวงเกษตรฯ แบ่งการวิเคราะห์ เป็น 2 กรณี คือ กรณี 1 พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหายครอบคลุมพื้นที่จำนวน 22,546 ไร่ คาดว่ามูลค่าของการผลิตทาง การเกษตรลดลงประมาณ 198 ล้านบาท จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตรลดลงประมาณร้อยละ 0.02 และกรณี 2 พื้นที่การเกษตรคาดว่า ได้รับความเสียหายจำนวน 133,563 ไร่ และ คาดว่ามูลค่า ความเสียหายประมาณ 1,013 ล้านบาท จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตรลดลงประมาณร้อยละ 0.09
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่พื้นที่ที่เสียหาย คือ ข้าวนาปรังที่อยู่นอกเขตชลประทาน โดยกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ มีการรณรงค์ให้ลดการปลูกข้าวนาปรังและหันไปผลิตพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำในปริมาณน้อย ซึ่งรายงานการ ปลูกพืชฤดูแล้งในปีนี้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกพืชหน้าแล้งทั่ว ประเทศไว้จำนวนประมาณ 12.28 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ และ พืชไร่-พืชผัก 2.78 ล้านไร่ นอกจากนี้ สินค้าพืชทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น คือ ปศุสัตว์ และ ประมง กล่าวคือ ช่วงฤดูแล้งปริมาณการผลิตของปศุสัตว์จะลดลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8.0 อันเป็นผลมาจาก ปศุสัตว์เจริญเติบโตช้า และบางส่วนก็เกิดโรคระบาด และอาจตายจากปัญหาอากาศร้อน ส่วนการผลิตทางประมง ลดลง ก็คือ ประมงน้ำจืด ได้แก่ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามแม่น้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณน้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงและอากาศร้อน ส่งผลทำให้ปลาเติบโตช้า คาดว่าจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าประมง พอสมควร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--