สศก. ระดมสมองจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสกลนครและกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 30, 2010 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จับมือสำนักงบประมาณลงพื้นที่สกลนคร ร่วมหารือการจัดทำแผนพัฒนา จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) เผยแผนพัฒนาจังหวัดด้าน การเกษตรกำหนดเป้าหมายที่จะจัดทำโครงการนำร่องการผลิตและการแปรรูปข้าวหอมมะลิจังหวัดโดยเน้นการ ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน หวังให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ชุมชนมีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรแบบบูรณาการในมิติจังหวัดสกลนคร และกลุ่มจังหวัดภาค ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการบูรณาการ แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ร่วมกับผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร (นายบุญส่ง เตชะมณีสถิต) รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร (นางวิตยา ประสงค์วัฒนา) และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดมุกดาหารและสกลนคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ จังหวัดมุกดาหารและสกลนคร

โดยแผนพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตร ได้กำหนดเป้าหมายที่จะจัดทำโครงการนำร่องการผลิตและการ แปรรูปข้าวหอมมะลิจังหวัด โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม และการสนับสนุน ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น ตลอดจนการเชื่อมโยงการผลิต การแปรรูป และการตลาด การบริหารจัดการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ รวมทั้งการส่งเสริมวิถีชีวิตความ เป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่มั่นคง และสูงขึ้น รวมทั้งสร้างชุมชนที่มั่นคงและเข้มแข็ง จึงเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี และ ภาคเอกชน ภายใต้เป้าหมายโครงการคือ สามารถผลิตข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในระยะเวลา 3 ปีจากที่เริ่ม ดำเนินการในปี 2554

สำหรับจุดมุ่งหมายในการบูรณาการพัฒนาจังหวัด โดยเฉพาะภาคการเกษตรนั้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิด ความกินดีอยู่ดีของประชาชนในจังหวัดดีขึ้น รวมถึงชุมชนมีความมั่นคงและเข้มแข็ง โดยการร่วมมือในการจัดทำ แผนพัฒนาการเกษตรที่มีการบูรณาการในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเน้นความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสนับสนุนการใช้เกษตรอินทรีย์ อันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นที่นำไปสู่ การปฏิบัติได้ รวมทั้งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรที่มิใช่เพียงข้าวหอมมะลิเพียงอย่างเดียว แต่ยัง รวมถึงสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญของจังหวัดอย่างเช่น โคขุน อีกด้วย นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ