สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ แก้ปัญหาการสับปะรดล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยจัดทำโครงการส่งเสริมแปรรูปเพื่อให้เกิดรายได้ในชุมชน เน้นการพัฒนาศักยภาพ การมีส่วนร่วมของสมาชิก และการพึ่งพาตนเอง
นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์ศักยภาพกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหนองจอก” ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และนำผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปเพื่อลดปัญหาการล้นตลาดและราคาตกต่ำ ประกอบกับวัตถุดิบมีราคาแพงในบางช่วง เพราะปริมาณผลผลิตที่ไม่แน่นอน คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาทางด้านราคา จึงมีการตั้งกลุ่มเป็นชุมชนกลุ่มเล็กๆ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน การริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากล โดยเกษตรกรต้องมีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง อันเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
สำหรับสถานการณ์ตลาดที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ประสบกับปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำ ซึ่งการแก้ไข ปัญหาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรแปรรูปสับปะรดโดยนำผลผลิตการเกษตรให้มีการขับเคลื่อน ทั้งแผนงาน โครงการ และงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งผลักดันสู่เป้าหมายการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ส่วนการแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกนั้น เนื่องจากสับปะรดของจังหวัดมีความโดดเด่นในเรื่องของรสชาติและเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในความหวาน และอร่อยไม่เป็นรองใคร อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดแข็งของ อ.บ้านคา ดังนั้น จะเน้นการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มีการบริโภคสับปะรดสดและส่งเสริมพื้นที่ปลูกสับปะรดสดเพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้ผลผลิตมีการกระจายออกตลอดทั้งปี ซึ่งทาง อ.บ้านคา จะมีการจัดงานสับปะรดหวานในเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ จึงขอเชิญชวนเที่ยวงานเพื่อลองชิมสับปะรดหวานได้
ดังนั้น การบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนและเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพกับสถาบันเกษตรกร ก่อเกิดการพัฒนาการผลิต การตลาด การอบรม และการศึกษาดูงาน ตลอดจนการรวมกลุ่มรูปแบบสหกรณ์เกษตร และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 จะได้ติดตามการดำเนินงานโครงการสำหรับการพัฒนาสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกร การจัดหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรชุมชน การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นายอนุสรณ์ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--