1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1.1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1)
- ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้าวเปลือกนาปี เดือนกรกฎาคม — 31 ตุลาคม 2552 สำหรับภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ขยายเวลาถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
- เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร และทำประชาคมรับรองการผลิต
- เกษตรกรที่ได้ใบรับรองการผลิตหลังจากทำประชาคมแล้ว สามารถนำไปทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม — 30 พฤศจิกายน 2552 ยกเว้นภาคใต้ ถึงเดือน 31 มีนาคม 2553 )
- การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
- ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
- ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553
ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน
1.1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
- ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
- ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
- ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
- การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
- การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากข้าวทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรใช้รถเกี่ยวนวด ข้าวมีความชื้นสูง พ่อค้าโรงสีจึงให้ราคาต่ำ สำหรับราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 — 19 มีนาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 1,863,097 ตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 1,767,820 ตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.39 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,780 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,858 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,619 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,563 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,619 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,383 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86
ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 998 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (32,039 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 995 ดอลลาร์สหรัฐ (32,088 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 49 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 772 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,783 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 722 ดอลลาร์สหรัฐ (23,284 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.93 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,499 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 502 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,116 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ (16,125 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.4 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 452 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,510 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 451 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,544 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,336 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 538 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,350 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1028 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
1. ปัจจัยด้านเทคโนโลยีของฟิลิปปินส์เพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศได้เพียงพอ
จากการที่ฟิลิปปินส์หันมาเน้นการปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูงและการใช้เทคโนโลยีการจัดการฟาร์มสมัยใหม่นั้น ส่งผลให้ประเทศมีผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และจากนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านการชลประทาน และเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม SL-H8 ทำให้เกษตรกรได้รับความพึงพอใจมาก เนื่องจากสามารถกระตุ้นผลผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น รัฐบาลควรเข้าสนับสนุนการเข้าถึงตลาด สินเชื่อ การฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการฟาร์ม ด้วย
2. กัมพูชาส่งออกข้าวไปยุโรปและรัสเซีย
สมาคมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชาได้ทำความตกลงที่จะส่งขายข้าว 1,348 ตัน ซึ่งมีมูลค่า 567,840 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18.23 ล้านบาท) ให้แก่ เยอรมนี 48 ตัน ลัตเวีย 120 ตัน ลิธัวเนีย 340 ตัน โปแลนด์ 360 ตัน และรัสเซีย 480 ตัน โดยจะมีการส่งมอบข้าวในระหว่างวันที่ 27 มี.ค. — 7 เม.ย. 53 โดยทางสมาคมคาดว่าจะสามารถทำความตกลงในการซื้อขายได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผู้ผลิตข้าวในประเทศมีศักยภาพในการแปรสภาพและสามารถทำความตกลงกับสหภาพยุโรปในเรื่องภาษีการนำเข้าได้ กล่าวคือ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าจากกัมพูชาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ด้วยอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ซึ่งจะส่งผลให้กัมพูชาสามารถเปิดตลาดการค้าข้าวไปในยุโรปในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะสามารถส่งออกได้ราว 7,000 — 10,000 ตัน มูลค่า 3.1-4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (99.52 — 144.46 ล้านบาท) ไปยังตลาดยุโรป ซึ่งจากข้อมูลสถิติที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำการส่งออกข้าวไปยุโรปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจำนวน 144 ตัน และเดือนกุมภาพันธ์ 480 ตัน นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ได้วางแผนที่จะจัดการประชุมระหว่างผู้ซื้อจากตลาดยุโรปและผู้ผลิตในประเทศกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ด้วย
3. จีนพัฒนาสายพันธุ์ข้าวบำรุงโลหิต
สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้รายงานความสำเร็จในการวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้พลังงานและน้ำตาลในปริมาณที่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศกับสำนักงานพัฒนาการเกษตรสาธารณรัฐเกาหลี
ลักษณะทางกายภาพของข้าวสายพันธุ์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นเมล็ดกลมที่มีคุณสมบัติลดไขมันและน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกิดกับโลหิตอันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาในการรับประทานข้าวให้กับผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งจากการทดลองกับหนูทดลองที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่กินข้าวพันธุ์ใหม่นี้ น้อยกว่าหนูทดลองที่กินข้าวธรรมดา 19.2% Triglyceride ลดลง 52.9% คอเลสเตอรอลลดลง 89.9% HDL-C ลดลง 38.1% LDL-C ลดลง 43.2% จะเห็นได้ว่า เมื่อบริโภคข้าวชนิดนี้ จะช่วยให้สามารถป้องกันและควบคุมการเกิดโรคชนิดเดียวกันนี้ในมนุษย์ และมีคุณสมบัติช่วยบำรุงโลหิตอีกด้วย
แม้ว่าโครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว แต่คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เมืองเซี่ยงไฮ้ได้สนับสนุนให้เงินทุนต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการสาธิตการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทานสูงในหลายๆ จุด เทคโนโลยีการเพาะปลูกอย่างครบวงจร ตลอดจนการส่งเสริมการเพาะปลูกหลังจากที่ได้ผ่านการยื่นตรวจสอบสายพันธุ์แล้ว
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2553--