ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2010 13:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานศึกษาปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 60.98 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61.41 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.70 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 60.91 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.76 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 61.93 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.26 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานศึกษาปิดภาคเรียน ประกอบกับปริมาณไก่เนื้อและไก่ใหญ่ที่ออกสู่ตลาดมีมากและเริ่มสะสมมากกว่าความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงอีกเล็กน้อย ตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

กรมปศุสัตว์ ปรับแผนเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนกเชิงรุก โดยได้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังระดับตำบล 667 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่วนการส่งออกปศุสัตว์ปี 2553 ทั้งประเภทเนื้อไก่และสุกร คาดมีการขยายตัวเพิ่มประมาณ ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกเนื้อสุกรรวม 1,936 ล้านบาท โดยเนื้อสุกรปรุงสุกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก ส่วนเนื้อสุกรสดส่งออกไปฮ่องกง เวียดนาม ปีละประมาณ 77 ล้านบาท ส่วนสุกรมีชีวิตได้ส่งไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มูลค่ารวม 1,700 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกไก่สดชำแหละและไก่ปรุงสุก มียอดส่งออก 258,000 ตัน รวมมูลค่า 34,500 ล้านบาท

กรมปศุสัตว์มีข้อแนะนำการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย โดยการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่บรรจุในภาชนะที่มีสัญลักษณ์คุณภาพ“Q”หรือแผงเนื้อที่ได้รับที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานครบวงจร อย่างไรก็ตามก่อนการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ควรเช็ดหรือล้างเนื้อสัตว์ให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง และควรเก็บเนื้อสัตว์ไว้ในตู้เย็น เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในการผลิตเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย และมีมาตรการในการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการเลือกเนื้อสัตว์ปลอดภัยได้ที่โทรศัพท์ หมายเลข 0-2653-4444 ต่อ 3141 หรือ 3146

เมื่อ 27 มีนาคม 2553 คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับแจ้งจากทางการโรมาเนียว่า พบไก่เลี้ยงในฟาร์มเสียชีวิตต้องสงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 สายพันธุ์ชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในเขต Danube Delta ทั้งนี้ เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา โรมาเนียตรวจพบเชื้อ H5N1 ในสัตว์ปีกในเขตพื้นที่ Letea ใกล้กับชายแดนยูเครน โดยเป็นการตรวจพบโรคไข้หวัดนกเป็นครั้งแรกในรอบปีของสหภาพยุโรป ขณะนี้ ทางการโรมาเนียได้ส่งตัวอย่างสัตว์ปีกที่เสียชีวิตไปตรวจ ณ ห้องปฎิบัติการแห่งชาติ(National Laboratories) ณ กรุงบูคาเรส และ ณ ห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประชาคม(Community Reference Laboratory) ที่ Weybridge สหราชอาณาจักร ควบคู่ไปกับการออกมาตรการเร่งด่วนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 40.17 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 40.77 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.47 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 38.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 40.65 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 40.95บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 38.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.19 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 47.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 50.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.94

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานศึกษาปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไข่ไก่ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดสะสมและมีมากขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

ส่วนราคาลูกไก่ไข่และไก่สาวยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเนื่องจากความต้องการเลี้ยงมีมากเพราะราคาไข่ไก่ในปี 2552 จูงใจ ประกอบกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตพ่อ-แม่พันธุ์นำเข้าลงร้อยละ 10-20 ในช่วงต้นปี 2552 ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วนในวงการไก่ไข่ที่ต้องการจัดระบบการผลิตไข่ไก่ของประเทศให้มีปริมาณผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหาซื้อลูกไก่เข้าเลี้ยงได้ไม่เต็มจำนวนหรือบางรายถูกเลื่อนคิวการลงลูกไก่ทำให้ผิดแผนการเลี้ยงการใช้เงินคืนกับสถาบันการเงิน ซึ่ง Egg Board ได้ประชุมเพื่อหามาตรการในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไปแล้ว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 249 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 251 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.08 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 258 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 243 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 257 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 24.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 267 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 281 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 255 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 271 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.02 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.32 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.71 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.08 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.45 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 41.36 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 49.99 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.65 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.66 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.31 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 เมษายน 2553 --

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ