สศก. ชี้ พริกไทยหลัง AFTA ยังสดใส ราคามีแนวโน้มดีดตัวสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2010 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดพริกไทยจังหวัดจันทบุรี พบว่าปีนี้ผลผลิตออกล่าช้า การผลิตมีแนวโน้มลดลง เหตุจากสภาพอากาศร้อนจัดและดินเสื่อมโทรม มั่นใจแนวโน้มพริกไทยหลังการเปิด AFTA ยังคงสดใส ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเพราะได้เปรียบด้านคุณภาพจึงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดพริกไทย ณ เดือนมีนาคมของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตคิดเป็นประมาณร้อยละ 98 ของพื้นที่ปลูก และผลผลิตพริกไทยทั้งประเทศ พบว่า เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 80 ซึ่งจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผลผลิตในปีนี้ออกล่าช้า ส่วนที่เหลือจะเก็บเกี่ยวได้หมดภายในเดือนเมษายน โดยคาดว่าจะมีผลผลิต 6,956 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม การผลิตมีแนวโน้มลดลง สาเหตุสำคัญมาจากสภาพดินเสื่อมโทรมและเกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกพืชหลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา และแก้วมังกร ซึ่งเกษตรกรบางรายจะขายในรูปพริกไทยอ่อน เนื่องจากสามารถขายผลผลิตโดยไม่สูญเสียน้ำหนักและไม่มีต้นทุนในการทำเป็นพริกไทยเมล็ดแห้ง โดยขายได้ในราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้ผลผลิตพริกไทยเมล็ดแห้งคาดว่าจะเหลือประมาณ 4,000 ตัน และราคาที่เกษตรกรขายได้ของพริกไทยดำเกรดคละในเดือนมีนาคม อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 80-110 บาท ส่วนพริกไทยขาวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 170-180 บาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ไทยได้เปิดเสรีสินค้าพริกไทยภาษีร้อยละ 0 ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่า มีการนำเข้าพริกไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชาและลาว แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย เนื่องจากมีข้อได้เปรียบใน เรื่องของคุณภาพ โดยเฉพาะกลิ่นและรสชาติทำให้พริกไทยจันทบุรียังเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในประเทศ ประกอบกับผลผลิตพริกไทยมีปริมาณน้อย จึงคาดว่าอนาคตพริกไทยหลังเปิด AFTA ยังคงสดใส ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการของผู้ประกอบการยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการรักษาระดับปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อฟื้นฟูสภาพดินและสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกให้เป็นแบบอินทรีย์มากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ