สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่อง กองทุน FTA ให้กับนักวิชาการและข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึงสิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า มาตรการป้องกันการ นำเข้ารวมทั้งหลักเกณฑ์วัตถุประสงค์ แนวทางการช่วยเหลือของกองทุน FTA เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปแนะนำและ สนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “กองทุน FTA: ความเข้าใจและความพร้อมของข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ณ ห้องแมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ เช่น เขตการค้าเสรี อาเซียน (AFTA) FTA ไทย-จีน FTA ไทย-ออสเตรเลีย FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางการค้าในภาพรวมเพิ่มมากขึ้น แต่อาจมีมีสินค้าเกษตรบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เช่น ข้าว มะพร้าวผล ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดและมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับไทย การพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกร ตลอดจนผู้ผลิตสินค้าเกษตรเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบผ่านทางกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือที่เรียกว่า “กองทุน FTA”
อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยังไม่ทราบว่ามีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ที่จะให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้นเพื่อให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบถึงแนวทางความช่วยเหลือของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ และนำความรู้ที่ได้รับไปให้คำแนะนำแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรในการจัดทำโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯเพื่อให้สามารถปรับตัว หรือแข่งขันกับต่างประเทศจากผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพตลอดจนการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าที่ไม่มีศักยภาพไปสู่สินค้าที่มีศักยภาพ โดยจะให้การสนับสนุนเงินทุนในรูปของเงินจ่ายขาดและเงินยืมเป็นทุนหมุนเวียน การสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยี สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา การให้ความรู้จัดฝึกอบรมและดูงาน การให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ตลอดจนการปรับเปลี่ยนอาชีพ
ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนโครงการโดยต้องเสนอผ่านส่วนราชการที่รับผิดชอบตามสายงาน เพื่อให้สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรนำไปดำเนินกิจกรรมตามโครงการต่างๆ สำหรับโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินแล้วตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีทั้งสิ้น 12 โครงการ 7 ชนิดสินค้าได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร กระเทียม ปาล์มน้ำมัน ชา และกาแฟ คิดเป็นงบประมาณ 346.64 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2553 ยังมีโครงการที่สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานได้เสนอขอรับการสนับสนุนรวมทั้งโครงการฯ ที่กองทุนฯ ได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำโครงการช่วยเหลือในเบื้องต้นขณะนี้มีจำนวน 13 โครงการ เป็นเงินประมาณ 900 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--