ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 4, 2010 14:58 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้สุกรเติบโตช้า ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรทรงตัวในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 61.72 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.98 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.21 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 60.93 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 60.20 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.45 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.61 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อไก่อยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยหลังจากที่ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ตั้งแต่ช่วงที่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกเป็นเวลากว่า 5 ปี ขณะนี้ตลาดไก่สดแช่แข็งมีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของญี่ปุ่น กำลังจะเดินทางเข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตไก่สดแช่แข็งของประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์จะนำเข้าไก่สดจากไทยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีตัวเลขคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งจากไทยถึง 2 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักในการส่งออกเนื้อไก่ของไทย โดยในปี 2552 ไทยส่งออกไก่แปรรูปปรุงสุกไปยังประเทศญี่ปุ่นถึง 173,515 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 25,854 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่ของโลกที่แต่ละปีมีการนำเข้าเนื้อไก่สูงถึง 7.8 แสนตัน ได้ตรวจพบสารตกค้างในเนื้อไก่จากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสของไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่อันดับต้นๆ ของโลก หากไทยสามารถเจาะตลาดรัสเซียได้สำเร็จ จะทำให้รัสเซียกลายเป็นตลาดหลักรายใหม่ที่มีศักยภาพมากของไทย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 40.55 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.17 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.95 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 39.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 41.24 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 40.60บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 47.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงและเริ่มจะสมดุลกับความต้องการบริโภค อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาราคาลูกไก่ไข่และไก่สาวยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเนื่องจากความต้องการเลี้ยงมีมากเพราะราคาไข่ไก่ในปี 2552 จูงใจ ประกอบกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตพ่อ-แม่พันธุ์นำเข้าลงร้อยละ 10-20 ในช่วงต้นปี 2552 ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วนในวงการไก่ไข่ที่ต้องการจัดระบบการผลิตไข่ไก่ของประเทศให้มีปริมาณผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

กรมปศุสัตว์น้อมรับแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดำเนินการเลี้ยงไก่ไข่แบบมีความสุข หรือ แฮปปี้ ชิก (Happy Chick) ในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานความห่วงใยเด็กนักเรียนให้มีภาวะโภชนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัย จากการได้รับประทานไข่ไก่ที่มีคุณค่าทางอาหาร โดยให้นักเรียนได้ลงมือเลี้ยงไก่ไข่ด้วยตนเอง เพื่อจะได้รับความรู้จากการปฏิบัติจริง และความรู้ที่ได้รับจะติดตัวและอาจเป็นอาชีพในอนาคตได้

โดยให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการเลี้ยงไก่ไข่แบบ แฮปปี้ ชิก เน้นการเลี้ยงให้ไก่ไข่มีความสุข คือ การให้ไก่ไข่มีโอกาสในการเดิน กิน นอน อย่างอิสระในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ ไม่ต้องอาศัยอยู่ในกรงตับแคบๆ เหมือนสมัยก่อน จะทำให้ไก่ไม่เครียด ได้ออกกำลังกาย มีสุขภาพแข็งแรง และให้ไข่ที่มีคุณค่าทางอาหาร แต่ทั้งนี้ การเลี้ยงไก่แบบแฮปปี้ ชิก ยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและปลอดโรคของนักเรียนและไก่ไข่ โดยมีการจัดการเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกต้องตามหลักการควบคุมโรค เช่น การแบ่งพื้นที่การเลี้ยงไก่ไข่ออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของผู้เลี้ยงหรือนักเรียน การจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้า-ออกพื้นที่เลี้ยง และมีตาข่ายป้องกันนก หนู หรือสัตว์อื่น ที่อาจเป็นพาหะนำโรคให้กับไก่ไข่ได้ ทั้งนี้หากโรงเรียนใดสนใจ การเลี้ยงไก่แบบถูกต้องตามหลักวิชาการควบคุมโรค สามารถติดต่อได้ที่ กรมปศุสัตว์ 0-2653-4444 ต่อ 4137-8

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553 USFDA หรือสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration) ได้ตีพิมพ์แนวทางปฏิบัติอาหารปลอดภัย “Guidance for Industry: Prevention of Salmonella Enteritidis in Shell Eggs During Production, Transportation, and Storage - Small Entity Compliance Guide (SECG)” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไข่ไก่ขนาดเล็กสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบไข่ไก่ปลอดภัยที่ประกาศไว้เมื่อกรกฎาคม 2552 ได้โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันเปลือกไข่ไก่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Enteritidis ในระหว่างการผลิต การขนส่ง และการเก็บรักษา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการไข่ไก่ต้องจัดทำมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวในโรงฟักไข่และให้มีการแช่เย็นในระหว่างเก็บรักษาและขนส่ง ระเบียบนี้มีขึ้นโดยคาดว่าจะป้องกันการติดเชื้อซัลโมเนลา ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยนับพันและเสียชีวิตประมาณ 30 รายจากการบริโภคไข่ปนเปื้อน Salmonella Enteritidis

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 249 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 251 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 244 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 257 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 24.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 267 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 279 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 281 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.57 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 251 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 292 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 269 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 319 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.77 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.02 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.79 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.08 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.46 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 44.59 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 49.99 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.73 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.65 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.23 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 52.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.42 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 - 25 เมษายน 2553 --

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ