สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท เตือน เหตุจากสภาพอากาศแปรปรวน ฉุดต้นมันสำปะหลังแห้งตายถึงร้อยละ 50 ประกอบกับเกษตรกรไม่สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธ์ จึงหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นผลให้พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังปี 2553/54 ลดลง
นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปีนี้เกิดปัญหาอากาศร้อนและภัยแล้ง รวมทั้งฝนที่ตกล่าช้าและปริมาณฝนตกก็มีเพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้วจะตกตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ต้นมันสำปะหลังที่ปลูกในไร่ ของเกษตรกรแห้งตายประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ และเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง เกษตรกรบางรายจึงต้องไถทิ้งและปลูกใหม่ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์ทำให้หายากและมีราคาสูงถึงไร่ละ 4,500- 5,000 บาท เป็นผลให้เกษตรกรบางรายไม่สามารถเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปราศจากเพลี้ยแป้งได้ จำเป็นต้องนำท่อนพันธุ์ในแปลงระบาดของเพลี้ยแป้งมาปลูก โดยในปี 2553 พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี และสระบุรี มีประมาณ 320,000 ไร่ ผลผลิต 853,000 ตัน แต่ในปี 2554 คาดว่า พื้นที่จะลดลงร้อยละ 10-20 เนื่องจากเกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของเพลี้ยแป้งประกอบกับราคาจูงใจ เช่น อ้อยโรงงานหรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ส่วนผลผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 30-40 หากยังไม่สามารถป้องกันการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และเอทานอล
นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เกษตรกรควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีไทอะมีโทแซม 25% WG โดยใช้สารเคมีดังกล่าว 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 5-10 นาที ก่อนปลูก เพื่อป้องกันการระบาดของเพลี้ยแป้งในระยะแรก สำหรับปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตรกำลังจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อผลิตมันสำปะหลังที่ปลอดเพลี้ยแป้งและให้ความรู้แก่เกษตรกรในการจัดทำแปลงมันสำปะหลังสะอาด รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรขยายผลเพื่อกระจายมันสำปะหลังที่ปลอดเพลี้ยแป้งไปสู่เกษตรกรต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--