1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กรมประมงนำร่อง 7 จังหวัด รับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตาม ISO/IEC Guide 65
คุณธนิฏฐา จงพีร์เพียร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ศรฟ.) กรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและปลานิลเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและปลานิล ได้มีระบบการบริหารจัดการฟาร์มที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล กรมประมงจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ ศรฟ. ขึ้น เพื่อให้บริการต่อผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและสัตว์น้ำจืด ให้ได้ตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65
เบื้องต้นจะเปิดให้มีการรับรองในขอบข่าย Coc และ GAP สำหรับกุ้งทะเล และ GAP สำหรับปลานิล ตามมาตรฐานของกรมประมง โดยมี 7 หน่วยงานนำร่อง ได้แก่ 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก 2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี 3) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง พื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช (เฉพาะพื้นที่ ปากพนัง) 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนครศรีธรรมราช พื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช 6) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี พื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา 7) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี พื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดกาญจนบุรี และนครปฐม
ดังนั้น กรมประมงจึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ของทั้ง 7 หน่วยงานนำร่องดังกล่าว ยื่นคำขอรับรองได้ที่ สถาบันฯ/ศูนย์ฯ/สถานีฯ ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง และสำนักวิจัยประมงน้ำจืด สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่ หรือสามารถยื่นคำขอรับรองได้ที่ ศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถ Download แบบฟอร์มคำขอรับการรับรองได้ที่ www.fisheries.go.th/thacert
อนึ่ง ใบรับรองมีระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ใบรับรองฟาร์มของตนใกล้จะหมดอายุ สามารถยื่นคำขอต่ออายุการรับรองก่อนใบรับรองฉบับเดิมหมดอายุอย่างน้อย 120 วัน ซึ่งศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป
สำหรับหน่วยงานกรมประมงที่เหลือทั้งหมดทั่วประเทศ จะเริ่มเปิดให้ยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fisheries.go.th/thacert หรือ โทรศัพท์หมายเลข 0-2561-4679 , 0-2579-7738
ในรอบสัปดาห์ผ่านมาไม่มีรายงานราคาสัตว์น้ำทุกชนิดที่ส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.62 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 41.06 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.44 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.18 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 62.20 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.02 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 103.89 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 102.43 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.46 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 115.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 110.83 ของสัปดาห์ก่อน 4.17 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.45 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.96 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.51 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้และราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯไม่มีรายงานราคา
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.57 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.59 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.02 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 22 — 27 พ.ค. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 27.90 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 30.84 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.94 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2553--