ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต ปี 2552/53

ข้าวนาปี ปี 2552/53

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รายงานการสำรวจเบื้องต้น ณ เดือนมีนาคม 2553 ว่าจะมีพื้นที่ปลูก 57.497 ล้านไร่ได้ผลผลิต 23.253 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 404 กิโลกรัม พื้นที่ปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2551/52 ร้อยละ 0.13 และ 0.08 ตามลำดับ แต่ผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.25 โดยผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากการระบาดค่อนข้างรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ที่มีการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะจังหวัด กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง

1.2 การผลิต ปี 2553/54

ข้าวนาปี ปี2553/54

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ ณ เดือนเมษายน 2553 ว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรวมทั้งประเทศ 57.647 ล้านไร่ ผลผลิต 23.462 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 407 กิโลกรัม พื้นที่ปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปี 2552/53 ร้อยละ 0.26 ,0.90 และ 0.74 ตามลำดับ พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อยเนื่องจากนโยบายประกันรายได้ข้าวของภาครัฐ ทำให้ชาวนามีความมั่นใจเรื่องผลตอบแทนและรายได้ที่ได้รับ จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ความรุนแรงคาดว่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวมากนัก ดังนั้นภาพรวมผลผลิตจึงคาดว่าเพิ่มขึ้น

1.3 การตลาด

1.3.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1) ขณะนี้ อยู่ในช่วงการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ เท่านั้น

  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                         ข้าวเปลือกเจ้าตันละ     ตันละ 10,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                         ข้าวเปลือกปทุมธานี      ตันละ 10,000 บาท        ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                         ข้าวเปลือกเหนียว       ตันละ  9,500 บาท        ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
  • ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553

ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน

1.3.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
  • ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
  • การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
          - ข้าวเปลือกปทุมธานี 1  ตันละ 11,000 บาท            ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          - ข้าวเปลือกเจ้า       ตันละ 10,000 บาท            ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          - ข้าวเปลือกเหนียว     ตันละ  9,500 บาท            ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ตลาดยังตงซบเซาต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากผู้ส่งออกยังไม่สามารถหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาส่วนตลาดลูกค้าเก่าขณะนี้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค ประกอบกับประเทศนำเข้านั้น เช่น อิหร่าน มีทางเลือกในการเลือกซื้อข้าวในตลาดราคาถูกว่าประเทศไทยได้ เช่น ประเทศเวียดนาม ปากีสถาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของตนเอง ขณะเดียวกันราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ข้าวนาปรังปี 2553 ราคายังคงสูงขึ้นเล็กน้อย แม้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากผลของโครงการประกันรายได้ และการแทรกแซงตลาดของกระทรวงพาณิชย์ผ่าน อ.ค.ส และอ.ต.ก และผู้ส่งออก เป็นต้น

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 14 พฤษภาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 3,025 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 3,161 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.30 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.4 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,175 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,181 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.05

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,034 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,923 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,016 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,671 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.96

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,475 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,275 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.42

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,675 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,790 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี (สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี)

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 977 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (31,559 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 998 ดอลลาร์สหรัฐ (32,004 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 445 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 720 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,257 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 724 ดอลลาร์สหรัฐ (23,217 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 40 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 445 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,374 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 448 ดอลลาร์สหรัฐ (14,366 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,565 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,539 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,794 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,751 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 ยอดการส่งออกข้าวปากีสถานปรับตัวสูงขึ้น

ปากีสถาน (ผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 5 ของโลก) อาจมียอดการส่งออกข้าว 4.1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปีที่ผ่านมา ในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นรายได้จากการขายข้าว 2.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ระดับ 2.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ (65.25 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ ได้มีความพยายามที่จะหาช่องทางการเพิ่มการส่งออก เพื่อขยายระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาในตลาดโลกลดต่ำลง กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกับเวียดนามและไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มากขึ้น

ปากีสถานได้วางเป้าหมายในการผลิตข้าว 6.4 ล้านตัน/ปี เปรียบเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมาที่สามารถผลิตได้ 6.9 ล้านตัน ซึ่งการส่งออกข้าวของปากีสถานนับได้ว่าเป็นการส่งออกสินค้าที่มีปริมาณมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิ่งทอ

2.2 อินเดียอาจผ่อนปรนการห้ามส่งออกข้าวเพื่อเคลียร์คลังสินค้า

อินเดียวางแผนผ่อนปรนการห้ามส่งออกข้าว เนื่องจากเกิดการล้นทะลักของธัญพืชอาหารที่จำเป็นในโกดังสินค้า ทำให้ไม่มีพื้นที่ที่จะเก็บผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในรอบใหม่ได้ โดยจะอนุญาตให้ภาคเอกชนส่งออกข้าวคุณภาพดีที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติได้ในปริมาณ 150,000 ตัน ไปยังตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่สามารถผลิตข้าวได้มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน ได้เคยห้ามการส่งออกข้าวในปี 2550 เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ และให้เกิดกลไกการปรับราคาข้าวต่ำลง ซึ่ง ปัจจุบันคลังสินค้าของรัฐบาลยังคงมีข้าวเหลืออยู่ในสต็อกประมาณ 26.2 ล้านตัน หรือประมาณ 3 เท่าของปริมาณความต้องการที่แท้จริง

อนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ข้าวที่จะอนุญาตให้มีการส่งออก คือ Red Matta ซึ่งมีการปลูกในทางตอนใต้ของรัฐเกรละ และเป็นสายพันธุ์ที่มีปริมาณความต้องการนำเข้าสูงในสหรัฐอาหรับเอมิเรต คูเวต และกาตาร์ ซึ่งการส่งออกข้าวสายพันธุ์ทั่วไปของอินเดียครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดต่างประเทศได้

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ