ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday June 14, 2010 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้สุกรเติบโตช้า ส่งผลให้ปริมาณสุกรในท้องตลาดมีไม่มากนัก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 62.34 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.19 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.24 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 62.75 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 61.28 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.20 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 64.29 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประกอบกับความต้องการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

สถานการณ์ตลาด

สำหรับการส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่ง เดือนมกราคม — เมษายน 2553 มีปริมาณการส่งออก 115,758 ตัน มูลค่า 14,329 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.30 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.38 เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น (ร้อยละ 5.69) ประกอบกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยเริ่มหันกลับไปซื้อเนื้อไก่ปรุงแต่งจากจีนซึ่งราคาถูกกว่า แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาจีนประสบปัญหาสารตกค้าง ส่งผลให้ปริมาณและราคาส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่งของไทยไปจีนในปีที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่งปรับตัวลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไก่เนื้อภายในประเทศของไทย ภาพรวมตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป (ร้อยละ 50) รองลงมาคือญี่ปุ่น (ร้อยละ 40) และตลาดอื่นๆ รวมกัน เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ แคนาดา และเวียดนาม (ร้อยละ 10)

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าทางกรมอยู่ระหว่างเร่งผลักดันให้สหภาพยุโรป(อียู)และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองตลาดใหญ่เปิดตลาดไก่สดแช่แข็งให้กับประทศไทยอีกครั้ง หลังจากในปลายปี 2546 ไทยได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ทำให้ทั้งสองตลาดสั่งห้ามการนำเข้าไก่สดจากไทย ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้แต่ไก่แปรรูป(ไก่สุก) เพราะขณะนี้ไทยได้ปลอดจากเชื้อไข้หวัดนกแล้วกว่า 500 วัน ตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) ไทยสามารถส่งออกไก่สดได้ ทั้งนี้จากการที่ผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์ได้เดินทางไปเจรจากับอียู และญี่ปุ่นทั้งสองตลาดยินดีที่จะเปิดตลาดไก่สดให้ไทยอีกครั้ง แต่จะต้องมีวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือตามหลักสากล ขณะเดียวกันทางกรมได้เร่งระบบตรวจสอบและให้การรับรองกลุ่มฟาร์มเลี้ยงไก่ในระบบคอมพาร์ตเมนต์(ฟาร์มเลี้ยงไก่ในระบบปิดภายใต้การจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพร่วมกันโดยมีการเฝ้าระวังควบคุมโรค) หากประเทศคู่ค้าให้การรับรองระบบการเลี้ยงดังกล่าว อนาคตการส่งออกไก่สดของไทยจะไม่กระทบทั้งประเทศอีก อย่างไรก็ตามทางกรมได้ให้การรับรองกลุ่มฟาร์มเลี้ยงไก่ไปแล้ว 30 แห่ง และมีเป้าหมายตรวจรับรองเพิ่มภายในปีนี้อีก 34 แห่ง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 44.55 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.88 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.53 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 43.39 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 44.27บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 20.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 46.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.15 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้อัตราการให้ไข่ลดลง ส่งผลให้ราคาเกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงที่สำคัญของไก่ไข่ ประกอบกับเกษตรกรบางรายได้ปลดแม่ ไก่ไข่เพื่อปรับลดปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ขณะที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 271 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 263 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.78 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 278 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 248 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 270 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 280 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 297 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 288 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 284 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.53 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 283 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 290 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 281 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 322 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.81 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.80 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.01 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.86 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.33 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.15 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 48.51 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.27 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.34 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.21 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 51.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.01 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ