ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 23, 2010 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรมีชีวิตได้ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อบรรเทาภาระด้านค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กรมการค้าภายในได้ประชุมหารือผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยขอความร่วมมือผู้เลี้ยงผู้ประกอบการตรึงราคาสุกรมีชีวิต ณ แหล่งผลิตภาคกลางอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 62-63 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีก จำหน่ายเนื้อแดงได้ที่ราคา กิโลกรัมละ 115-120 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และไม่ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าในกรณีที่ราคาขายปลีกเนื้อแดงสูงเกินกิโลกรัมละ 120 บาท องค์กรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการจะจัดหาเนื้อสุกรชำแหละที่ราคาถูกกว่าตลาดทั่วไปจำหน่ายกับผู้บริโภค ตามโครงการที่กรมการค้าภายในประสาน เช่นโครงการธงฟ้าราคาประหยัด เป็นต้น

ส่วนราคาลูกสุกรยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงแสดงว่าความต้องการเลี้ยงยังมีอยู่มาก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 62.43 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.28 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.24 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 62.59 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 60.89 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.58 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 64.22 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดมีไม่มากนักจึงเริ่มใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 45.93 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 44.73 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.68 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 44.16 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 44.07บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 18.50 บาท ลดลงจากตัวละ 20.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 9.76

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 44.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.68 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.31

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นรวมทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะภัยแล้งทำให้อัตราการให้ไข่ลดลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการค้า/ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปที่จำเป็นต้องใช้ไข่ไก่เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค กรมการค้าภายในได้ประชุมหารือผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยขอความร่วมมือสมาคมผู้เลี้ยง สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ รวมทั้งสหกรณ์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ตรึงราคาไข่คละ ณ แหล่งผลิตไว้ที่ฟองละ 2.80 บาท หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป กรมการค้าภายในจะได้มีการพิจารณาทบทวนราคาไข่ไก่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตต่อไป เพราะจากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงเพราะมีฝนตกชุกจะช่วยให้อัตราการให้ไข่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะทำให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่คลี่คลายลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 272 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 270 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.72 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 287 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 250 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 270 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 283 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 28.00บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 7.14

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 305 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 297 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.69

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 300 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 293 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.62 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 331 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 294 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 285 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 325 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.83 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.73 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.24 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.79 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.45 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.10บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 47.07 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 35.30 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.25 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.07 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 32.57 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ