ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday June 23, 2010 15:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

การตลาด

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1) ขณะนี้ อยู่ในช่วงการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ เท่านั้น

  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้น ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
  • ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
  • ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553
  • ผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 1)

ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2553

2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
  • ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
  • การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
  • ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
  • ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน สำหรับราคาอ้างอิงประจำวันที่ 14 มิ.ย. 53
  • ผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 2) ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2553

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวในภาคเหนือเริ่มลดน้อยลง คุณภาพของข้าวที่ออกเป็นเมล็ดสวยขายได้ราคาดี แต่ราคาที่ปรับขึ้นอาจคงอยู่ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก โรงสี และผู้ส่งออก ยังมีสต็อกอยู่มาก การซื้อขายข้าวมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาโรงสีได้ระบายสต็อกบางส่วนออกสู่ตลาด รวมทั้งต้นทุนอยู่ในเกณฑ์สูง จึงชะลอการจำหน่าย ขณะเดียวกันผู้ส่งออกที่ต้องการข้าวเพื่อเตรียมส่งมอบ ได้ออกมาเสนอซื้อสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าว โดยเฉพาะข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้น

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 7 มิถุนายน 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 3,546 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 3,767 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.01 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

3. ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,801 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,882 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,946 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,911 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,079 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,129 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.41

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,175 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,075 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.24

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,675 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,490 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 946 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (30,451 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 941 ดอลลาร์สหรัฐ (30,468 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 722 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,241 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 717 ดอลลาร์สหรัฐ (23,215 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,163 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐ (14,182 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,522 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,530 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,775 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,764 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 11 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1895 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2553/54 ประจำเดือนมิถุนายน 2553 ว่าจะมี 459.441 ล้านตันข้าวสาร (687.90 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 440.572 ล้านตันข้าวสาร (659.20 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2552/53 ร้อยละ 4.28 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ บราซิล พม่า กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และ สหรัฐอเมริกา

2.2 การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2553/54 ณ เดือนมิถุนายน 2553 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 459.441 ล้านตันข้าวสาร(687.90 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.28 การใช้ในประเทศจะมี 452.792 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.46 การส่งออก/นำเข้าจะมี 31.400 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.56 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 96.268 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.01

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล พม่า จีน กัมพูชา อุรุกวัย เวียดนามปากีสถาน สหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อิยิปต์

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ โกตดิวัวร์ แม๊กซิโก อิหร่าน อิรัก จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิค์ เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ ฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะมี สต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต๊อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

2.3 ฟิลิปปินส์ใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่ม 35% ต่อเฮกตาร์

ขณะนี้ฟิลิปปินส์มีการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมในช่วงฤดูร้อนสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 35.6% กล่าวคือ จากการเพาะปลูกในพื้นที่มากกว่า 55,000 เฮกตาร์ (343,750 ไร่) สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 7.73 ตัน/เฮกตาร์ (1.24 ตัน/ไร่) จากเดิมที่ปลูกโดยใช้พันธุ์พื้นเมืองที่ให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยเพียง 5.7 ตัน ทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เป็น 30,000 เปโซ/เฮกตาร์ หรือ 3,273.60 บาท/ไร่ (เดิมกำไร 15,000 เปโซ/เฮกตาร์ หรือ 1,636.8 บาท/ไร่) ทั้งนี้สายพันธุ์ข้าวลูกผสมรุ่นแรกคือสายพันธุ์ F1

2.4 เวียดนามวางแผนส่งออกข้าว 380,000 ตัน

จังหวัดหวิงลอง ของเวียดนามวางแผนเพิ่มคุณภาพการผลิตข้าวตั้งแต่การเพาะปลูกถึงการแปรรูป และการเก็บรักษาภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวคุณภาพสูงสู่ตลาดที่มีความต้องการ ทั้งนี้ ในจังหวัดดังกล่าวมีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว 166,000 เฮกตาร์ (1.04 ล้านไร่) และมีการประมาณการผลผลิตที่คาดว่าจะได้มากกว่า 800,000 ตัน/ปี ซึ่งเกษตรจังหวัดของทางเวียดนามได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน การใช้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง และสนับสนุนการจัดแบ่งโซนการเพาะปลูกพิเศษเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานการส่งออก

ทั้งนี้ ได้มีการลงทุนมากกว่า 26 พันล้านดอง (44.20 ล้านบาท) ในการสร้างโรงงานสีแปรสภาพ การเพิ่มคุณภาพการสีแปร และการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวคุณภาพดีขึ้นไปอีก 56% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนอีก 28 พันล้านดอง (47.60 ล้านบาท) สำหรับการสร้างโรงงานสีแปรสภาพใหม่ และอีก 1 หมื่นล้านดอง (17 ล้านบาท) ในการจัดหาเครื่องมือ/อุปกรณ์ในจังหวัด Cai Cam และ Co Chien

อนึ่ง ในครึ่งปีแรกของปี 2553 จังหวัดหวิงลองได้มีการส่งออกข้าวเกือบ 200,000 ตัน และมีการขยายตลาดไปในหลายพื้นที่รวมถึงญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ