สศก. เผยการพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2553 ชี้ผลกระทบภัยแล้งและอากาศแปรปรวนทำผลผลิต ลดลง

ข่าวทั่วไป Thursday July 8, 2010 13:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาส 2 ปี 2553 ชี้สาเหตุภัยแล้งส่งผลกระทบสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มผลผลิตลดลง ทั้งข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ขณะที่อ้อยโรงงานผลผลิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นจากราคาที่จูงใจทำให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปาล์มน้ำมันและยางพาราผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากพื้นที่ปลูกใหม่ในภาคเหนือและอีสาน ผู้สนใจติดต่อขอข้อมูลโดยละเอียดได้ที่ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์สารสนเทศการเกษตร ได้พยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาส 2 ปี 2553 พบว่า ในปีเพาะปลูก 2553 / 54 พืชไร่ที่สำคัญทั้งข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลงอย่างมากเนื่องจากภาวะภัยแล้งในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2553 รวมทั้งฤดูฝนที่มาล่าช้า โดยน้ำตามธรรมชาติและปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงมาก ทำให้การเพาะปลูกข้าวนาปีและพืชไร่หลายชนิดในรอบฤดูฝนต้องล่าช้าออกไป ซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรอบ 2 หรือพืชที่ปลูกสลับในช่วงต่อไปไม่ทัน

ส่วนมันสำปะหลัง ผลผลิตยังคงลดลงจากการระบาดของเพลี้ยแป้ง ในขณะที่อ้อยโรงงานผลผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของพื้นที่ เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกแทนมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลงบ้างจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ด้านไม้ยืนต้นได้แก่ ปาล์มน้ำมันและยางพารา ทิศทางผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการปลูกในพื้นที่ใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการปลูกทดแทนต้นที่อายุมากในแหล่งเดิมของภาคใต้ แต่ผลผลิตต่อไร่ก็ลดลงจากผลกระทบความแห้งแล้งเช่นกัน

สำหรับผลไม้ในปีนี้จากการจัดทำข้อมูลเอกภาพเบื้องต้นไม้ผลปี 2553 พบว่า เงาะ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุดภาพรวมผลผลิตลดลง เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนและภาวะภัยแล้ง ยกเว้นลองกองที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของสินค้าปศุสัตว์นั้นพบว่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด ยกเว้นโคเนื้อลดลงเนื่องจากเกษตรกรขายโคมีชีวิตออกไปเพื่อนำเงินมาลงทุน ตลอดจนขายแม่โคและโคเล็กเข้าโรงฆ่าเพื่อบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ หากผู้สนใจต้องการข้อมูลโดยละเอียดสามารถติดต่อขอรับด้วยตนเองได้ที่ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ตึกศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือโทร. 0 — 2940 — 6641,0 — 2561 — 2870 ในวันและเวลาราชการ หรือทาง www.oae.go.th

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ