สศข.10 แจงผลกระทบสภาพอากาศและโรคระบาดผลผลิตข้าวนาปรังลดลง

ข่าวทั่วไป Thursday July 8, 2010 13:17 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 แจงสาเหตุผลผลิตข้าวนาปรังลดต่ำลง 30-50% ของเกษตรกรในจังหวัดนครปฐม เผย เหตุจากสภาพอากาศที่สูงผิดปกติ บวกกับภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ข้าวที่เพิ่งปลูกขาดน้ำ และยืนต้นตาย ด้านศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี แนะอย่าหว่านข้าวแน่นและให้ระวังพันธ์ข้าวอื่นที่ปะปน พร้อมเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 (สศข.10) จังหวัดราชบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวในตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมว่า ผลผลิตข้าวนาปรังที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวลดต่ำลง จากปกติถึง 30% สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงผิดปกติประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ข้าวที่เพิ่งปลูกขาดน้ำ ใบแห้ง และยืนต้น ตาย สำหรับในพื้นที่ที่ข้าวออกรวงแล้วสภาพดังกล่าวส่งผลถึงการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดข้าวลีบผลผลิตเสียหาย รวมทั้งเป็นโรคระบาดของหนอนม้วนใบจึงทำให้ผลผลิตลดลง โดยจะพบมากในข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2, สุพรรณบุรี 60 และสุพรรณบุรี 90 เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบ ฯ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยทาง สศข.10 ได้แจ้งข้อมูลความผิดปกติให้ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรีทราบแล้ว เพื่อร่วมตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

และจากการตรวจสอบพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี พบว่านอกจากสาเหตุสภาพอากาศข้างต้นแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรหว่านข้าวแน่นเกินไป และพันธุ์ข้าวที่หว่านมีพันธุ์อื่นปนจำนวนมาก เกษตรกรใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย) หว่านครั้งแรก (หลังข้าวงอก) ซึ่งทำให้ต้นข้าวอวบอ้วนและอ่อนแอต่อโรค รวมทั้งใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ขณะข้าวสุกแก่แล้วต้นข้าวและใบธงยังเขียวเข้ม สำหรับ โรค-แมลง ที่ตรวจพบมี 3 ชนิด ได้แก่ โรคเมล็ดด่าง โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคกาบใบแห้ง

ทั้งนี้ ในส่วนของการป้องกันกำจัด เกษตรกรควรเฝ้าระวังการเกิดโรค หากปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค ดังกล่าว เช่น พิษณุโลก 2, สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90 เป็นต้น โดยเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรคัดเลือกจาก แปลงที่ไม่เป็นโรค และที่ทางราชการรับรองพันธุ์ ควรมีการคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ แมนโคเซ็บ ในอัตรา 3 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ หลังเก็บเกี่ยวข้าว และเริ่มฤดูใหม่ ควร พลิก-ไถหน้าดิน เพื่อทำลายเมล็ดขยายพันธุ์ของเชื้อรา และใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ จะช่วยให้ข้าวเป็นโรคน้อยลง ส่วนโรคเมล็ดด่างที่พบในระยะออกรวง จะพบแผล เป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำที่เมล็ดบนรวงข้าว บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาลดำและบางพวกมีสีเทาปนชมพู เนื่องจากมี เชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลาย โดยเชื้อรามักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวง จนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม ส่วนอาการเมล็ดด่าง จะปรากฏเด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจึงต้องควรเฝ้าสังเกตและระมัดระวัง นายอนุสรณ์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ