ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Friday July 9, 2010 14:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

การใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้สู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์

ดร.สุภัทรา อุไรวรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวสรุปถึงผลการศึกษาวิจัยของกรมประมงว่า ในระยะแรกได้เริ่มดำเนินการทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 4 แบบ คือ แบบรวมเพศ แบบเพศผู้ล้วน แบบเพศผู้ล้วนและคัดขนาดโตเกิน 50 กรัมออกทุกๆ เดือน และแบบเพศผู้ล้วนซึ่งมีขนาดโตเกิน 50 กรัมออกทุกๆ เดือนแล้วดึงก้ามที่มีขนาดใหญ่ของตัวที่เหลือออก โดยนำไปทดลองเลี้ยงในบ่อดินที่มีขนาด 1,200 ตารางเมตร ที่ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำอุตรดิตถ์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองปรากฏว่า การเลี้ยงกุ้งแบบเฉพาะเพศผู้จะได้กุ้งที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการเลี้ยงแบบรวมเพศ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกุ้งที่เลี้ยงเพศผู้และคัดตัวโตออก และไม่คัดตัวโตออก พบว่าในชุดการทดลองที่คัดตัวโตออก จะได้กุ้งที่มีน้ำหนักมากกว่าแบบที่ไม่คัดตัวโตออก จากนั้นจึงทดลองเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและการ รอดตายของกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงแบบรวมเพศ และเฉพาะเพศผู้ล้วนในฟาร์มของเกษตรกรที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่า การเลี้ยงแบบเพศผู้ล้วนให้การเจริญเติบโต ผลผลิต และการรอดตายดีกว่า การเลี้ยงแบบเพศรวม จึงทำให้เกิดการต่อยอดการผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วนโดยวิธีแปลงเพศ หรือ Andrectomy ด้วยการผลิตกุ้งเพศผู้ที่มีไข่ หรือ Neo-female โดยกำจัดต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนเพศผู้ออกจากลูกกุ้งเพศผู้ เพื่อเปลี่ยนเพศให้เป็นกุ้งตัวเมียและสามารถวางไข่ได้ แล้วนำมาผสมกับกุ้งเพศผู้ปกติ ทำการตรวจลูกกุ้งที่ได้ หากเป็นเพศผู้ทั้งหมด แม่กุ้งคือกุ้ง Neo-female ต่อจากนั้นนำกุ้ง Neo-female ผลิตลูกกุ้งเพศผู้ล้วนและนำลูกกุ้งที่ได้ไปกำจัดต่อมไร้ท่อ เพื่อให้ได้กุ้ง Neo-female เป็นจำนวนมาก และผลิตลูกกุ้งเพศผู้ทั้งหมด เพื่อนำไปเลี้ยงต่อไป

ดร.จิราวรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อวงการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เนื่องจากจะได้วิธีการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตกุ้งก้ามกราม อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรนักวิชาการด้านการประมงของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคให้มีประสบการณ์ และความชำนาญในด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรในประเทศไทยจะสามารถเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิชาการที่ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการทำงานวิจัยในครั้งนี้ด้วย

ในรอบสัปดาห์ผ่านมา(22-28 พ.ค.2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 786.73 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 455.85 ตัน สัตว์น้ำจืด 330.88 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

                    1.1  ปลาดุก             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                2.62    ตัน
                    1.2  ปลาช่อน            ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                4.21    ตัน
                    1.3  กุ้งทะเล            ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               95.50    ตัน
                    1.4  ปลาทู              ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                3.02    ตัน
                    1.5  ปลาหมึก            ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               66.16    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.34 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 37.80 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.46 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.56 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61.72 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.16 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 118.57 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 8.57 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 116.71 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 115.90 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.81 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 134.17 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 130.00 ของสัปดาห์ก่อน 4.17 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.40 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 55.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.31 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 70.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.71 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.51 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.50 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.01 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.- 2 ก.ค. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.70 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฏาคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ