กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน ร่วมเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมปีงบประมาณ 53 เพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพในสินค้าเกษตรได้แก่ ข้าว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ และพืชผัก เผยปีงบประมาณ 54 จะดำเนินการต่อเนื่องโดยเพิ่มสินค้ายางพารา โคขุน โคนมและปลานิล คาดเกษตรกรจะได้รับประโยชน์และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพต่อไป ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี ได้ร่วมจัดทำและพัฒนาข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่อการเชื่อมโยงการผลิตการตลาดอุตสาหกรรมและการบริโภค พร้อมทั้งดำเนินงานประเมินผลโครงการในครั้งนี้ด้วย
นายสุกิจ ทองธัช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 (สศข.3) กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และจังหวัดเลย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานกลุ่ม ได้เสนอโครงการกลุ่มจังหวัดในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการสร้างคุณค่ายกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสอดคล้องกับตลาดโดยเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมของกลุ่มจังหวัด ได้รับงบประมาณมาดำเนินงานในปีงบประมาณ 2553 รวม 16 ล้านบาท จากงบไทยเข้มแข็งเพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพในสินค้าข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรม และพัฒนาข้าวคุณภาพดี รวมทั้งพืชผักให้มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยทำ Contract Farming กับห้างสรรพสินค้าในพื้นที่เช่น ห้างโลตัส ห้างบิ๊กซี และคาร์ฟูร์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้ง 4 จังหวัด กำลังเร่งดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานให้ทันเวลา ทั้งนี้ สศข.3 ได้เข้าร่วมดำเนินงานในโครงการโดยจัดทำและพัฒนาข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่อการเชื่อมโยงการผลิตการตลาดอุตสาหกรรมและการบริโภค พร้อมทั้งดำเนินงานประเมินผลโครงการด้วย
สำหรับในปีงบประมาณ 2554 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้เสนอโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ยกระดับการค้าการผลิตสินค้าทางการเกษตร โดยได้ผ่านการอนุมัติงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 72.8 ล้านบาท ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2553 ในสินค้ามะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ข้าวพันธุ์ดี พืชผัก และเพิ่มสินค้ายางพารา โคขุน โคนมและปลานิล เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน (GAP/HACCP) เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม และผู้บริโภคในรูปของ Contract Farming และยังเชื่อมโยงสินค้าดังกล่าวสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว จีน และเวียดนามด้วย ซึ่ง สศข.3 ก็มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาข้อมูลจัดทำแผนการผลิตการตลาดและประเมินผลโครงการในครั้งนี้เช่นกัน
นายสุกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของโครงการในปีงบประมาณ 2553 และปี 2554 นั้น โดยเฉพาะปี 2553 ที่ได้รับงบประมาณจากงบไทยเข็มแข็งแล้ว คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับตัวเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าข้าว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ และพืชผัก รวมถึงโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดหนองคาย ตลอดจนห้าง สรรพสินค้าต่างๆในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ตามมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตร และปลอดภัยกับผู้บริโภค รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางในการขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลักดันการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ในปี 2555 และ 2556 ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--