ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday July 14, 2010 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้สุกรโตช้าและสุกรที่ออกสู่ตลาดมีขนาดเล็กกว่าปกติ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

การระบาดของโรค PRRS ระบาดในสุกรที่ หมู่บ้านหนองไผ่ ต.โพนทอง อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ทำให้มีสุกรทยอยตายแล้วกว่า 300 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จึงเรียกร้องให้ปศุสัตว์ รวมถึงรัฐบาลให้การช่วยเหลือเพราะการระบาดของโรคนี้ ทำให้ชาวบ้านไม่ซื้อเนื้อสุกรบริโภคเพราะกลัวติดโรค ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายเนื้อสุกรในตลาด ต.โพนทอง ลดลงกว่าร้อยละ 50

ทั้งนี้ ปศุสัตว์ จ.หนองคาย แจ้งว่า ขณะนี้กำลังเร่งรักษาสุกรที่ติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ โรค PRRS เป็นโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอาการซึม ตัวแดง มีไข้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเหลว และตายในที่สุด ดังนั้นเกษตรกรควรรักษาความสะอาดของโรงเรือนสม่ำเสมอ และควรแยกสุกรป่วยออกมา สำหรับมาตรการควบคุมโรค สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ได้จัดชุดเฉพาะกิจควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกร จากพื้นที่เกิดโรคระบาดโดยตั้งจุดตรวจ 5 จุด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 62.58 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.06 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 62.64 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 61.38 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.85 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 63.26 บาท ส่วนราคา ลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อสัปดาห์นี้ตลาดยังคงคล่องตัวทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศส่งผลให้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มคาดว่าราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากอาหารตามธรรมชาติมีมากขึ้นในช่วงหน้าฝน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 45.73 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 45.12 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.35 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 48.05 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.49 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 50.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.96

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางราคาได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแม่ไก่ไข่เกิดอาการเครียดทำให้ปริมาณผลผลิตลงลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย

กรมการค้าภายในประสานผู้ผลิตไข่ไก่เพิ่มโควต้าเป็น 5แสนฟองขายในห้างค้าปลีกเล็งเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ชั่วคราวช่วยลดต้นทุน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาไข่ไก่ที่ขายในท้องตลาดทั่วไปยังทรงตัวในสูง ไข่ไก่เบอร์ 2 ฟองละ 3.20-3.40 บาท ทำให้กระทรวงเตรียมขอความร่วมมือผู้ผลิตไข่ไก่ เพิ่มโควตาไข่ไก่ธงฟ้า ที่จะขายในห้างค้าปลีกทั่วประเทศ จากวันละ 400,000 ฟอง เป็นวันละ 500,000 ฟอง

นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือผู้ผลิตไข่ไก่ลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่ที่เป็นถาดพลาสติก เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากถึงถาดละ 3-10 บาท หรือเฉลี่ยทำให้ต้นทุนไข่ไก่เพิ่มขึ้นฟองละ 0.33-0.58 สตางค์ โดยขนาดถาดพลาสติก 10 ฟอง ต้นทุนเพิ่ม 3-5 บาท ขนาดถาด 12 ฟอง ราคา 4-7 บาท และขนาดถาด 30 ฟอง ราคา 8-10 บาท

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นถุงพลาสติกชั่วคราว ซึ่งขณะนี้กระทรวงได้เปิดจุดจำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้าในห้างค้าปลีกทั่ว ประเทศและตลาดสด รวมถึงจุดจำหน่ายของแต่ละจังหวัดแล้ว 506 แห่ง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 285 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 280 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.73 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 299 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 283 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 280 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 295 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ลดลงจากตัวละ 30.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 6.67

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 305 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่าน

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 313 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 311 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.90 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 345 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 314 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 294 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 326 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.60 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.55 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.11 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.79 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.14 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.10 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 46.35 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.26 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.33 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.21 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.20 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 กรกฏาคม 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ