ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday July 14, 2010 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1. การตลาด

1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1) ขณะนี้ อยู่ในช่วงการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ เท่านั้น

การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553

ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้น ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553

ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

          -  ข้าวเปลือกเจ้าตันละ  ตันละ 10,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          -  ข้าวเปลือกปทุมธานี   ตันละ 10,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          -  ข้าวเปลือกเหนียว    ตันละ  9,500 บาท           ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553

ผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 1)

ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553

ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553

ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)

ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)

การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)

การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)

ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

          -   ข้าวเปลือกปทุมธานี 1   ตันละ 11,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          -   ข้าวเปลือกเจ้า        ตันละ 10,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
          -   ข้าวเปลือกเหนียว      ตันละ  9,500 บาท           ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ภาวะการซื้อขายในช่วงสัปดาห์นี้ราคาเกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ปริมาณข้าวเปลือกของเกษตรกรเหลือน้อย ประกอบกับข้าวนาปรังปี 2553 ผลผลิตลดลงเนื่องจากกระทบแล้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการของโรงสีเพื่อสีขายส่งเพื่อบริโภคภายในยังคงมีอยู่ แต่ราคาส่งออก F.O.B อ่อนลงจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากผู้ส่งออกยังไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลกำลังเร่งมาตรการ G to G แต่ยังไม่เป็นที่สำเร็จมากนัก

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 2 กรกฎาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 4,071 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 4,508 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.69 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

2. ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,955 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,695 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.04

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,212 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,115 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,148 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,545 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.80

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,319 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,190 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.57

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,970 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,110 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 995 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (32,030 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 996 ดอลลาร์สหรัฐ (32,041 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 11 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 786 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,302 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 771 ดอลลาร์สหรัฐ (24,803 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 499 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,389 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 454 ดอลลาร์สหรัฐ (14,605 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 216 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,876 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 485 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,613 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 492 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,827 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 214 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1909 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าหยุดนำเข้าภายใน 3 ปี

ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังวางแผนการผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งจากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมา การผลิตข้าวของประเทศลดลงมากกว่าร้อยละ 3 จากสาเหตุพายุและภัยธรรมชาติ ในส่วนของการดำเนินการ ได้วางแผนทบทวนสินค้าคงคลังของข้าว และการประเมินระบบชลประทาน สิ่งอำนวยความสะดวกภายหลังการเก็บเกี่ยว และถนนจากไร่นาถึงตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มเติม (ที่ไม่ใช่การบริจาค) โดยเฉพาะสำหรับการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรจะต้องผ่านข้อกำหนดที่ตั้งไว้ด้วย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ได้ประเมินสถานการณ์ว่าเป้าหมายที่ฟิลิปปินส์ตั้งไว้มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ ปุ๋ย ระบบชลประทาน รวมทั้งการสนับสนุนภาครัฐด้วย

2.2 ชาวนาปากีสถานเผชิญปัญหาการปลูกข้าว

ชาวนาในปากีสถานกำลังเผชิญปัญหาในการเพาะปลูกข้าว เช่น การขาดแคลนน้ำ ราคาปุ๋ย ค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่ลดลง ซึ่งในปี 2553-54 นี้ ได้ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 6.4 ล้านตัน ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 6.84 ล้านตัน แต่จากสภาพปัญหาที่กล่าวข้างต้น ทำให้ยากที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประธานสมาคมผู้เพาะปลูกข้าวบาสมาติ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ใน ประเด็นปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาจแก้ไขโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีการจัดการที่ดี ส่วนราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ยูเรีย ที่เพิ่มจาก 725 รูปี/ถุง (265.79 บาท/ถุง) เป็น 875 รูปี/ถุง (320.78 บาท/ถุง) ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มจาก 2.5 รูปี/ยูนิต (0.92 บาท/ยูนิต) เป็น 10 รูปี/ยูนิต (3.67 บาท/ยูนิต) และราคาน้ำมันดีเซลที่แพงกว่าน้ำมันเบนซิน รัฐบาลควรให้การอุดหนุนไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และปัจจัยการผลิตในการปลูกข้าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและสร้างรายได้เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐควรพยายามรักษาระดับราคาปุ๋ยและปัจจัยการผลิตให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาข้างต้น พบว่ายังขาดโกดังจัดเก็บและการอบลดความชื้นอย่างเพียงพอ และปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งประธานสมาคมฯ ได้เสนอให้เพิ่มเงินทุนในการวิจัย ตั้งกฎระเบียบในการกำหนดราคาปุ๋ย เพิ่มมาตรฐานเครื่องจักรที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าว การจัดหาสถานที่เก็บและอบลดความชื้น รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในคลังสินค้า โดยเกษตรกรจะต้องขายผลผลิตให้เร็วที่สุดภายหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดการแก้ปัญหาเรื่องคลังสินค้าและการจัดการทางการตลาดที่เหมาะสม การร่างกฎหมายทางการเกษตรและพระราชบัญญัติปุ๋ย รวมทั้งการจับมือกับทุกภาคส่วนสนับสนุนการส่งออกข้าวด้วย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 กรกฏาคม 2553-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ