ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Thursday August 5, 2010 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1.1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ1) ขณะนี้ อยู่ในช่วงการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ เท่านั้น

  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดย ธ.ก.ส. สาขาที่เป็นภูมิลำเนา/ต้นที่ปลูก ตั้งแต่เดือน สิงหาคม - 15 ธันวาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2552 - 15 เมษายน 2553
  • ระยะเวลาใช้สิทธิ์ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552- 28 กุมภาพันธ์ 2553 ยกเว้น ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ — 31 พฤษภาคม 2553
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและ ราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    -  ข้าวเปลือกเจ้าตันละ     ตันละ 10,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -  ข้าวเปลือกปทุมธานี      ตันละ 10,000 บาท             ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -  ข้าวเปลือกเหนียว       ตันละ  9,500 บาท             ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
  • ระยะเวลาโครงการ เดือนกรกฎาคม 2552 — กรกฎาคม 2553

1.1.2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

  • ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ 1 ธันวาคม 2552 — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มกราคม — 30 เมษายน 2553 (ภาคใต้ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2553
  • ระยะเวลาประชาคม 6 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 6 เมษายน — 15 สิงหาคม 2553)
  • ระยะเวลาออกหนังสือรับรอง 15 มกราคม — 20 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 15 เมษายน — 20 สิงหาคม 2553)
  • การจัดทำสัญญาประกันรายได้ 20 มกราคม — 30 พฤษภาคม 2553 (ภาคใต้ 20 เมษายน — 30 สิงหาคม 2553)
  • การใช้สิทธิ์ประกันรายได้ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 (ภาคใต้ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553)
  • ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
                    -  ข้าวเปลือกปทุมธานี 1     ตันละ 11,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -  ข้าวเปลือกเจ้า          ตันละ 10,000 บาท           ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -  ข้าวเปลือกเหนียว        ตันละ  9,500 บาท           ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
  • ประกาศราคาอ้างอิง โดยประกาศราคาอ้างอิงทุก 7 วัน สำหรับราคาอ้างอิงประจำวันที่ 26 ก.ค. 53

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน สำหรับราคาส่งออก เอฟโอบี ทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ราคาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากช่วงนี้มีเรือมารอรับมอบข้าวแล้ว ผู้ส่งออกจึงออกมารับซื้อข้าว

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 23 กรกฎาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 4,566 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 4,967 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.78 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.2 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,243 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,199 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,001 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,163 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.98

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,835 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,587 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,983 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,170 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.29

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,283 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,290 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,002 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (32,005 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 999 ดอลลาร์สหรัฐ (32,013 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 758 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,252 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 774 ดอลลาร์สหรัฐ (24,803 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.07 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 551 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,885 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐ (13,844 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 41 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,670 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐ (12,658 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 12 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,973 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 467 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,965 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.9941 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 ความเป็นไปได้ของการยกเลิกการส่งออกข้าวของอินเดีย

จากข่าวลือการยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย เนื่องจากจะมีปริมาณอุปทานข้าวในตลาดโลกสูง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าข่าวลือจะเป็นความจริง ซึ่งผู้ส่งออกต่างคอยการประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอินเดีย

น.ส. กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ออกมาเตือนว่าไม่ควรตื่นตระหนกต่อข่าวดังกล่าวมากนัก โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าอินเดียมีการยกเลิกการห้ามการส่งออกจริง จะส่งผลให้ราคาข้าวลดต่ำลงในปีนี้ เนื่องจากจะมีปริมาณอุปทานข้าวในตลาดโลกมาก ในขณะที่ปริมาณความต้องการมีไม่มากนัก รวมทั้งการส่งออกข้าวนึ่งของไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากอินเดียเป็นคู่แข่งรายใหญ่ของไทยในข้าวชนิดนี้ นอกจากนี้ อินเดียกำลังพิจารณาว่าจะยกเลิกการห้ามการส่งออกข้าว บาสมาติในปีนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกลดลงรวมทั้งการส่งออกของไทย โดยขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ของอินเดียอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจภายใต้ชื่อ “กลุ่มช้าง หรือ The Elephant Group” ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไนจีเรีย ได้กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียได้เตรียมการที่จะอนุญาตการส่งออกข้าวบาสมาติในปีนี้ เพื่อลดปริมาณอุปทานข้าวภายหลังฤดูฝน

ขณะนี้ ราคาข้าวขาว 100% อยู่ที่ 479 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ประมาณ 15,325.17 บาท/ตัน) เพิ่มจาก 471 เหรียญสหรัฐ (15,069.22 บาท) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณอุปทานที่ลดลง ในขณะที่ราคาข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นจาก 448 เหรียญสหรัฐ/ตัน (14,333.36 บาท/ตัน) มาอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐ/ตัน (14,397.35 บาท/ตัน) และราคาข้าวนึ่งจาก 462 เหรียญสหรัฐ/ตัน (14781.27 บาท/ตัน) มาอยู่ที่ 496 เหรียญสหรัฐ/ตัน (15,869.07 บาท/ตัน)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวว่า แม้ว่าอินเดียจะยกเลิกการห้ามการส่งออก แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมากนัก เนื่องจากอินเดียจะต้องรักษาปริมาณสต็อกจำนวนมาก และจะไม่ส่งออกข้าวปริมาณมากในช่วงสภาวะอากาศแห้งแล้ง

ในการประชุมผู้ค้าข้าวที่ประเทศดูไบเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นว่า การค้าในตลาดโลกจะพุ่งไปถึง 30 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งมีสัดส่วนจากอินเดีย 25.3 ล้านตัน ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณการบริโภคของทั่วโลกใน 1 ปี แต่ผู้ค้าข้าวของอินเดียยังกังวลว่า ถ้ารัฐบาลไม่ยกเลิกการห้ามการส่งออก จะส่งผลให้อินเดียเสียส่วนแบ่งการตลาดให้ปากีสถานไป

การประกาศห้ามการส่งออกข้าวของอินเดียได้มีขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อรักษาระดับปริมาณอุปทานในประเทศ แต่ปริมาณอุปทานและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก เป็นแรงกดดันให้อินเดียต้องทบทวนนโยบายที่ได้ประกาศไปแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ค้าอินเดียก็ได้รับแรงกดดันจากการผลิตข้าวอย่างมาก เนื่องจากต้องแบกรับสต็อกมากกว่าปีที่ผ่านมา อนึ่ง ปัจจุบันราคาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอยู่ที่ระดับ 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน (12,797.64 บาท/ตัน) ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ระดับราคา 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน (15,997.05 บาท/ตัน) ซึ่งผู้ค้าข้าวจะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดทุนจากการลดลงของระดับราคาดังกล่าว โดยแนวโน้มราคาจะลดลงต่อเนื่องไปพร้อมกับปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้น

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 กรกฏาคม - 1 สิงหาคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ