สศข.7 แนะดูแลตลาดพืชเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Monday August 16, 2010 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 เผยการกำหนดนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและการสร้างหลักประกันด้านการตลาดที่มั่นคงของพืชเศรษฐกิจจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ชี้หากต้องการส่งเสริมพืชชนิดอื่นทดแทนการนำนาปรังในเขตชลประทานควรมีการดูแลเรื่องการตลาดเพื่อสร้างเป็นธรรมและมั่นใจให้กับเกษตรกร

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น นโยบายรับจำนำข้าวด้วยการกำหนดราคาสูงนำตลาด ทำให้เกษตรกรในภาคกลางบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เช่น จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานีและกรุงเทพฯปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากการที่เคยปลูกข้าว อ้อยโรงงาน ถั่วต่างๆ และไม้ผล มาเป็นการทำนาปีและนาปรังต่อเนื่องตลอดปี โดยนำพันธุ์ข้าวอายุสั้น ประมาณ 90 วันมาปลูกเพื่อให้สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้งหรืออย่างน้อย 2 ปี 5 ครั้ง เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่เจ้าของที่ดินก็มีรายได้จากค่าเช่าเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากสัดส่วนพื้นที่เช่าในภาคกลางสูงประมาณร้อยละ 46.21 รวมทั้งเกิดการพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตรทำให้กิจกรรมทำนาค่อนข้างง่ายกว่าการปลูกพืชอื่นๆ เช่น เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องดำนา เครื่องหว่านข้าว หว่านปุ๋ยและพ่นยา ทำให้พื้นที่ทำนาภาคกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในฤดูนาปรัง จากที่เคยปลูกได้ 2.21 ล้านไร่ ในปี 2542 เพิ่มเป็น 4.41 ล้านไร่หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2552

ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำชลประทานจึงมีเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก ซึ่งในอดีตมีการแบ่งรอบเวรการใช้น้ำชลประทาน เช่น บางปีให้พื้นที่ทางฝั่งซ้ายของคลองชลประทานได้ใช้น้ำ ปีถัดไปพื้นที่ฝั่งขวาชลประทานเป็นผู้ใช้น้ำสลับกันไป ส่งผลให้เกษตรกรที่ไม่ได้รับน้ำชลประทานหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น ถั่วเขียว ถั่วแระ หรือถั่วลิสงแทน ทั้งนี้เกษตรกรบางพื้นที่ที่สามารถปลูกถั่วได้ผลผลิตดีในฤดูแล้ง ก็จะทำการปลูกต่อเนื่องทุกปี เช่น พื้นที่ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่เกษตรกรจะไม่ให้ชลประทานปล่อยน้ำมามากเพราะจะทำให้พื้นที่ปลูกถั่วได้รับความเสียหาย ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้จะทำให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ มีน้ำสำรองในเขื่อนไว้ใช้ในปีต่อไปได้

สำหรับการกำหนดนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างหลักประกันด้านการตลาดที่มั่นคงของพืชบางชนิดให้กับเกษตรกรเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยโรงงาน ย่อมสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกว่ามีตลาดรองรับ ทำให้เกษตรกรจะหมุนเวียนปลูกพืชชนิดนั้นต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเฉพาะพืชที่มีราคาประกันหรือราคารับจำนำสูงกว่าพืชอื่นๆ ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมพืชชนิดอื่นทดแทนการทำนาปรังในเขตชลประทาน ควรมีการเข้าไปดูแลด้านการตลาดเพื่อสร้างความมั่นใจในการปลูกพืชที่ทางราชการส่งเสริมทดแทนนาปรังได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ