ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 24, 2010 15:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกชุกทั่วทุกภาคและบางพื้นที่เกิดน้ำท่วม ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยลดลง ขณะที่ปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคที่ทรงตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 62.22 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.12 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.20 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 59.92 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 62.90 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.22 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 65.15 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,800 บาท (บวกลบ 60 บาท) ลดลงจาก ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.05

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 71.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.39

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ตลาดไก่เนื้อสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกชุกทั่วทุกภาคและบางพื้นที่เกิดน้ำท่วม ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยลดลง ส่งผลให้ความต้องการบริโภค ไก่เนื้อเริ่มชะลอตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

กรมปศุสัตว์ รายงานถึงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ค่อนข้างแปรปรวน หลายพื้นที่มีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งกรมฯ ได้ขยายระยะเวลาดำเนินการ X-Ray ครั้งที่ 3 เพิ่มขึ้น 1 เดือนคือเดือนสิงหาคมนี้ โดยดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกทางอาการ ใช้วิธีเยี่ยมบ้านเน้นการใช้เครือข่ายการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนกระดับพื้นที่ในการควบคุมโรคทันทีตามมาตรการที่ได้สั่งการไปแล้ว ทั้งนี้ไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้สำรวจและสังเกตแหล่งที่มีนกธรรมชาติจำนวนมาก และหากพบนกธรรมชาติป่วยหรือตายผิดปกติให้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุกครั้ง และให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและห้องปฏิบัติการที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ พร้อมเฝ้าระวังสัตว์ปีกในบริเวณทันที อย่างไรก็ตามขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และอาสาปศุสัตว์ในการเข้าพื้นที่เยี่ยมบ้านเกษตรกร

สถานการณ์ไข้หวัดนกในอินโดนีเซีย คณะบริหารเทศบาล Jakarta ตะวันออกพยายามปกป้องประชาชนจากการคุกคามของไข้หวัดนก (H5N1) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ Ahmad Adnan หัวหน้าคณะบริหารฯ กล่าวว่า คณะบริหารฯ ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ปีกในรัศมี 25 กิโลเมตร จากเขตชุมชนในเมือง Jakarta นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากประชาชนให้แจ้งทางการหากพบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในเขต Jakarta ตะวันออก และจากเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2553 ทางการได้ฆ่าสัตว์ปีกไปกว่า 1,309 ตัวในตำบล Kramatjati Cakung Cipayung Pasarrebo Jatinegara Pulogadung Ciracas Durensawit Makassar และ Matraman

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 42.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.21 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.54 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 38.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 46.77 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 41.38บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 12.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 34.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.89 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.50 บาท บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติและเริ่มสอดคล้องกับความต้องการบริโภค แนวโน้มราคาคาดว่าจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 278 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 277 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.59 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 271 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 284 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 270 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 293 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 305 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่าน

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 304 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 302 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.75 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 297 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 319 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 286 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 331 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.93 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.95 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.21 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.63 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.27 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 46.37 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.45 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.25 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.10 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 30.93 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 — 22 สิงหาคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ