สศก. เผยการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมจากกองทุน FTA สามารถปฏิบัติได้ผล

ข่าวทั่วไป Monday August 30, 2010 13:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยเกษตรกรมีเฮ หลังจากกองทุน FTA ประเมินผลโครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนม ด้วยวิธีที่ปฏิบัติได้และเห็นผลจริง พบเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการเลี้ยง โคนมได้จริง โดยการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบ ลดช่วงห่างการให้ลูก ปรับสัดส่วนแม่โคในฝูงและการเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบตาม เป้าหมาย แนะควรมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลต่อไปในอนาคต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ผลจากการนำเข้านมผงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการนำนมผงมาใช้แทนที่น้ำนมดิบในประเทศ ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยจำเป็นต้องมีการปรับระบบการเลี้ยงโคนมใหม่ ให้มีต้นทุนลดลงและมีประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยการคัดเลือกสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 20 สหกรณ์และคัดเลือกทีมที่ปรึกษาของแต่ละสหกรณ์ โดยดำเนินการเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มพร้อมดูแลสุขภาพโคนมของเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ผลการประเมินพบว่า เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในคำแนะนำและการจัดอบรมของทีมที่ปรึกษาในระดับค่อนข้างมาก และมีการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มทุกราย ส่งผลให้สามารถดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบในฟาร์มของเกษตรกร ซึ่งสามารถดำเนินการเกินเป้าหมายได้ร้อยละ 10 การลดช่วงห่างการให้ลูก เกษตรกรดำเนินการได้เกินเป้าหมายร้อยละ 30 การปรับสัดส่วนแม่โคต่อฝูงโคนม เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรสามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายถึงร้อยละ 60 และการเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบในฟาร์มของเกษตรกร พบว่าส่วนใหญ่เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายที่กำหนดเช่นเดียวกัน จากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้น จึงควรมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและขยายผลต่อไปในอนาคต นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ