เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังอุทกภัย แนะป้องกันผลผลิตล่วงหน้าให้ทันท่วงที

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2010 13:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 เตือนเกษตรกรระวังภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ทำผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย แนะให้เฝ้าระวังและเตรียมการอย่างใกล้ชิด ด้านกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและรับร้องทุกข์ ณ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในแต่ละ อำเภอหรือหน่วยเฉพาะกิจที่ใกล้บ้าน

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในระหว่างเดือนสิงหาคม — ธันวาคม ของทุกปี ทาง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน มักจะประสบปัญหาภัยน้ำท่วมจนเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลผลิตทางด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งเกษตรกรต้องเตรียม ป้องกันไว้ก่อน เมื่อเกิดน้ำท่วม ขึ้นมา ความเสียหายของทรัพย์สินและผลผลิตทางด้านการเกษตรจะลดน้อยลงหรืออาจจะไม่เสียหายเลยก็ได้

สำหรับการวางแผนป้องกันล่วงหน้า แนะนำให้เกษตรกรตรวจตราดูแลบ้านเรือนและยุ้งฉางที่เก็บผลผลิต หากฝนตกหนัก ลมแรงอาจจะพังได้ สวนผลไม้จะต้องเตรียมทางระบายน้ำหรือเครื่องสูบน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ขังหรือหากอยู่ในพื้นที่ลุ่มจะต้องทำคันคูหรือเพิ่มคันคูให้สูงขึ้น และขณะน้ำท่วมขังห้ามเข้าไปเหยียบย่ำเด็ดขาด ส่วนผลผลิตไหนเก็บเกี่ยวได้ ให้รีบดำเนินการเก็บเกี่ยว พร้อมวางแผนหาที่ตากหรือที่เก็บไว้ล่วงหน้า ส่วนที่ยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ให้หาทางแก้ไขไว้ด้วย สำหรับด้านปศุสัตว์ เกษตรกรจะต้องเตรียมคอกหรือเล้าไว้บนที่สูง พร้อมเตรียมการเรื่องอาหาร ฟางหรือหญ้า ซึ่งจะหายากในฤดูน้ำท่วม และควรหายาป้องกัน และกำจัดโรค เนื่องจากสภาพอากาศชื้นทำให้สัตว์อ่อนแอ ส่วนสัตว์น้ำให้พิจารณาว่ากระชังไหนหรือบ่อไหน สามารถที่จะจับส่ง ตลาดได้ก่อนก็ให้รีบดำเนินการจับ หากเกิดความผิดพลาดน้ำท่วมหนักจะได้มีเงินทุนดำเนินการต่อ ส่วนกระชังไหนหรือบ่อไหน ที่ยังไม่ได้ขนาดควรรีบดำเนินการเสริมกระชังหรือซ่อมบ่อให้แข็งแรง หากปริมาณน้ำมากและ รุนแรงจะทำให้กระชังรั่วหรืออาจขาดลอยน้ำไปได้ ให้เตรียมหาหลักที่แข็งแรงยึดไว้

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรได้เตรียมการล่วงหน้าไว้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ถ้าปริมาณน้ำท่วมมากและ มีความรุนแรงเกินความสามารถที่จะป้องกันได้ เมื่อเกิดความเสียหาย ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมความพร้อมและหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งเกษตรกรจะต้องไปแจ้งความเสียหายพร้อมบอกเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของตนแก่เจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในแต่ละ อำเภอหรือหน่วยเฉพาะกิจที่ใกล้บ้านท่าน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการรวบรวมความเสียหาย ไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือโดยที่ท่านไม่ต้องเดินทางมารับเงิน ซึ่งนับว่าเป็นการบริการอำนวย ความสะดวกแก่เกษตรกรให้มากที่สุด นายอนุสรณ์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ