1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต
1.1.1 ข้าวนาปี ปี 2553/54 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้พยากรณ์ ณ เดือน กันยายน 2553 ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูก 57.044 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 22.936 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 402 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลง จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 และลดลงจากพื้นที่เพาะปลูก 57.497 ล้านไร่ ผลผลิต 23.253 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 404 กิโลกรัมต่อไร่ ของปี 2552/53 คิดเป็นร้อยละ 0.79 1.36 และ 0.50 ตามลำดับ
พื้นที่เพาะปลูกลดลงเนื่องจากฤดูฝนล่าช้า และเกิดภาวะแห้งแล้งค่อนข้างรุนแรงในช่วงต้นฤดู
การเพาะปลูกน้ำในเขื่อนหลักลดลงมากจนไม่สามารถส่งน้ำไปสนับสนุนได้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงประกาศให้เกษตรเลื่อนการเพาะปลูกจากปกติปลูกเดือนพฤษภาคม ออกไปจนฝนตกชุกมีน้ำพอเพียงต่อการเพาะปลูกช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2553 ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรอบ 2 ไม่ทัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่นาดอนกระทบแล้ง ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลงเนื่องจากกระทบแล้ง และจากการเลื่อนการปลูกข้าวพันธุ์ไวแสง ทำให้ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นสั่นลง ประกอบกับกระทบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบางพื้นที่ของภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง แต่ไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามช่วงกลางเดือนสิงหาคม มีฝนตกชุกถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นผลดีต่อการเพาะปลูก จึงคาดว่าผลผลิตต่อไร่ลดลงไม่มากนัก โดยรวมผลผลิตลดลง เนื่องจากการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่
1.2 การตลาด
1.2.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)
- การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย. — 30 พ.ย. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค. -31 มี.ค. 54
- การประชาคม 16 มิ.ย. — 15 ธ.ค.53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย. 54
- ออกใบรับรอง 16 มิ.ย. — 31 ธ.ค. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย. 54
- ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53— 31 พ.ค 54
- ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค. 54
- ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง 1 ส.ค. 53 — 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค. 54
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
-ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน -ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน -ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน -ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน -ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
1.2.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรถึงสิ้นสุด 31 ส.ค. 53* ยกเว้นภาคใต้ ที่กำลังดำเนินการ ดังนี้
- ประชาคม 6 เม.ย. - 15 ส.ค.53
- ออกหนังสือรับรอง 15 เม.ย.-30 ส.ค.53
- การทำสัญญาประกันรายได้ 20 เมย.-30 สค.53
- การใช้สิทธิของเกษตรกร ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53* ทั้งนี้เกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง
หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกชนิดข้าว และทุกตลาด ยกเว้น ตลาดขายส่งกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดน้อยมาก ขณะเดียวกันข้าวนาปี
ปี 2553/54 ในภาคกลางเริ่มทยอยออกสู่ตลาดบางแล้ว และมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการของโรงสีข้าวนึ่ง ซึ่งไทยมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น เนื่องจากอินเดียล้มเลิกนโยบายการระบายสต๊อก เนื่องจากกระทบแล้งคาดผลผลิตลดลง อีกทั้งปากีสถานกระทบภัยธรรมชาติน้ำท่วมเสียหายหยุดการส่งออกข้าวชั่วคราว ส่วนราคาตลาดกรุงเทพฯ ลดลงเนื่องจากปริมาณข้าวจากสต๊อกรัฐบาลระบายสำหรับภายในในราคาถูก และมีปริมาณมาก
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 1 กันยายน 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 5,240 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 5,765 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.11 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.3 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,627 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,611 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,610 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,606 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.05
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,055 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,889 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,523 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,522 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,970 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,230 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.97
ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,084 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (33,624 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,057 ดอลลาร์สหรัฐ (33,040 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.55 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 584 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,815 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 791 ดอลลาร์สหรัฐ (24,725 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 90 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 476 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,765 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 472 ดอลลาร์สหรัฐ (14,754 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 11 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,679 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐ (13,660 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,502 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,473 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 29 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.0184 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 เวียดนามไม่จำกัดการส่งออกข้าวในปีนี้
เวียดนามไม่จำกัดการส่งออกข้าวในเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งเวียดนามได้มีการพิจารณาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อาจมีการจำกัดการส่งมอบข้าว เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงอาหาร ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสภาพอากาศและปัจจัยต่างๆ เพื่อความมั่นใจว่าประเทศจะมีปริมาณผลผลิตธัญพืชเพียงพอต่อความต้องการภายในและการส่งออกที่จำเป็น
แม้ว่าจะมีมีการจำกัดการส่งออก แต่ภาครัฐก็ได้มีการร้องขอให้ธุรกิจรายย่อยในท้องถิ่นคอยดูสถานการณ์ด้านการตลาดอย่างระมัดระวัง และเลือกที่จะส่งมอบผลผลิตตามสัญญาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกำไรอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ได้รายงานว่า ราคาข้าวคุณภาพที่ดีที่สุดของเวียดนามได้เพิ่มขึ้น 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (620.37 บาท/ตัน) มาอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (13,958.28 บาท/ตัน) โดยราคาข้าวดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เวียดนามได้วางแผนการส่งออกข้าว 6 ล้านตันในปีนี้ แต่ก็มีการปรับแผนการส่งออกเพิ่มเป็น 7 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตข้าวมาก
2.2 อินเดียชนะการประมูลข้าวบังคลาเทศที่ 13,772 บาท/ตัน
บริษัท เอ็ม ซัน กรุ๊ป ของอินเดียชนะการประมูลข้าวนึ่งที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติในบังคลาเทศจำนวน 30,000 ตัน ที่ราคา 13,772 บาท/ตัน (ราคารวมต้นทุนและค่าขนส่ง) ซึ่งจะมีการส่งมอบภายใน 40 วัน ภายหลังจากการเซ็นสัญญาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
รัฐบาลอินเดียได้วางแผนการนำเข้าข้าวเป็น 2 เท่าจากเดิม คือ 600,000 ตัน ภายหลังจากราคาการนำเข้าข้าวสาลีตกลงจากการส่งออกที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ทะเลดำ
บังคลาเทศเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก โดยมีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ถึงเดือน มิ.ย. มากกว่า 34.45 ล้านตัน แต่รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการข้าวได้เพียงพอความต้องการในประเทศ
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 สิงหาคม — 5 กันยายน 2553--