ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 7, 2010 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

กรมประมงให้บริการขึ้นทะเบียนระบบการจัดการฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์(Compartment )

ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า จากการที่คณะเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินของสำนักงานตรวจสอบอาหารและสัตว์แพทย์ของสหภาพยุโรป หรือ EU — FVO (Food and Veterinary Inspection Office, European Union) ได้เดินทางมาตรวจประเมินหน่วยงานของกรมประมง และสถานที่เพาะเลี้ยง รวมถึงสถานที่รวบรวมสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกไปประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป เมื่อปลายปี 2552 โดยได้มีการเสนอแนะให้กรมประมงพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนการตรวจรับรองฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์สำหรับ ปลาคาร์พ เพื่อให้มีมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรคเคเอชวีในปลาคาร์พเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคในประเทศไทยอยู่เป็นครั้งคราว ดังนั้น กรมประมงจึงจัดให้มีการประชุมผู้ประกอบการส่งออกสัตว์น้ำสวยงามและผู้ผลิตปลาคาร์พ ในเรื่องระบบการจัดการฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์ ได้เข้าใจถึงระบบการขึ้นทะเบียนและวิธีการบริหารจัดการตามแผนความมั่นคงปลอดภัยเชิงชีวภาพ เพื่อให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาคาร์พในประเทศไทยปลอดจากโรคเคเอชวี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เนื่องจากความต้องการปลาคาร์พในตลาดโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กรมประมงได้เตรียมแผนเปิดให้บริการขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 เป็นต้นไป

          ดร.สมเกียรติ กาญจนาคาร หัวหน้ากลุ่มวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมง    น้ำจืดเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การจัดการฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์ เป็นระบบแผนการบริหารความมั่นคงเชิงชีวภาพ โดยภายในอาณาเขตฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์จะประกอบด้วยกลุ่มประชากรสัตว์น้ำที่มีประวัติการปลอดโรคชนิดที่มี การเฝ้าระวังและควบคุมแตกต่างจากกลุ่มประชากรของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ การนำหลักการพื้นฐานของความมั่นคงปลอดภัยเชิงชีวภาพมาใช้ในการบริหารจัดการนี้ จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE และสหภาพยุโรปกำหนด ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ทางการค้าสินค้า  สัตว์น้ำระหว่างประเทศ โดยระบบการรับรองฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์จะต้องมีรายละเอียดของการกำกับควบคุมที่ชัดเจนโดยกรมประมง สำหรับแผนการจัดการความมั่นคงปลอดภัยเชิงชีวภาพตามข้อกำหนดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE )นั้น จะต้องมีการบันทึกการเคลื่อนย้ายภายในฟาร์ม การผลิต การเก็บรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งที่มาอาหาร บันทึกสัตว์ที่ป่วยและตาย การใช้ยารักษาโรค ซึ่งต้องมีการบันทึกทุกครั้งอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรค นอกจากนี้จะต้องมีเอกสารแสดงการอบรมพัฒนาบุคลากรของฟาร์ม ต้องปฏิบัติตามผลการประเมินวิธีการลดความเสี่ยง และต้องมีระบบการเฝ้าระวังโรคเฉพาะชนิดโรคที่ดำเนินการ อย่างน้อย 2 ปี ส่วนแผนการจัดการความปลอดภัยเชิงชีวภาพตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ต้องมีระบบการควบคุมโรคตามหลักการระบาดวิทยาของโรค และมีสถานภาพปลอดโรคเฉพาะและแตกต่างจากสัตว์น้ำนอกระบบคอมพาร์ทเมนท์ เช่น กรณีน้ำจากภายนอกฟาร์มเข้ามาในฟาร์มคอมพาร์ทเมนท์จะต้องมีกระบวนการทำให้เชื้อโรคตายหรือหมดสภาพ มีการสร้างแนวป้องกันการเล็ดลอดเข้ามาของสัตว์น้ำจากนอกระบบ และป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำในระบบเล็ดลอดหนีออกไป มีระบบป้องกันน้ำท่วม น้ำซึมจากภายนอก ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจ       การส่งออกปลาคาร์พเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทางผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลาคาร์พจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนฟาร์ม   คอมพาร์ทเมนท์ และพัฒนาแผนการจัดการความมั่นคงปลอดภัยเชิงชีวภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตปลาคาร์พของไทยให้มีคุณภาพปลอดโรคเคเอชวี รองรับความต้องการตลาดปลาสวยงามของโลกได้ยั่งยืนตลอดไป

ในรอบสัปดาห์ผ่านมา (24 ก.ค.-1 ส.ค. 2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 943.77 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 539.52 ตัน สัตว์น้ำจืด 404.25 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

          1.1  ปลาดุก            ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 2.24    ตัน
          1.2  ปลาช่อน           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 4.04    ตัน
          1.3  กุ้งทะเล           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               134.69    ตัน
          1.4  ปลาทู             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 5.93    ตัน
          1.5  ปลาหมึก           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                51.37    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 43.15 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.18 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.97 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา

          2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.59 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ            61.39 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.20 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 122.86 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 123.57 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 119.69 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 120.02 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.33 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 122.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.00 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.05 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 55.75 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.30 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.71 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 70.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 145.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 142.14 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.86 บาท

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 9.40 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.07 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. —3 ก.ย. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 29.59 บาท ลดลงจากิโลกรัมละ 29.70 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.11 บาท

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 สิงหาคม — 5 กันยายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ