1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กรมประมงนำยุทธศาสตร์กุ้งไทย ฉบับที่ 2 เข้า ครม.
กุ้งเป็นสินค้าประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย มีผลผลิตถึงปีละ 5 — 5.5 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 28 ของผลผลิตโลก โดยผลผลิตกว่าร้อยละ 90 ของประเทศไทย เป็นการส่งออกไปต่างประเทศ ในรูปกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูป การเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาวแวนนาไมร้อยละ 99 ส่วนกุ้งกุลาดำมีเพียงร้อยละ 1 ในแต่ละปีสามารถนำเม็ดเงินเข้าประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท รัฐบาลทุกสมัยจึงให้ความสำคัญกับสินค้ากุ้งเป็นอย่างยิ่ง
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ มีมติให้จัดทำยุทธศาสตร์กุ้ง ฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งทางกรมประมงได้ยกร่างยุทธศาสตร์กุ้ง ฉบับที่ 2 ขึ้นและได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำร่างยุทธศาสตร์กุ้ง ฉบับที่ 2 เข้าสู่เวทีประชาพิจารณ์อย่างเป็นทางการและผ่านความเห็นชอบแล้วตามกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์กุ้ง ฉบับที่ 2 จะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเชิงรุก และเป็นเอกภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ กุ้งไทยพัฒนา นำพาเศรษฐกิจชาติ ผลิตได้มาตรฐานสากล รักษ์ธรรมชาติยั่งยืน ” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยในฐานะ Product Champion ของประเทศ ที่สร้างรายได้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านมิติแห่งการพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพพื้นที่การเลี้ยงและสายพันธุ์ การเพิ่มศักยภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล การเพิ่มมูลค่าสินค้ากุ้งหลังการเก็บเกี่ยว การเพิ่มศักยภาพการตลาดในทุกระดับ และการผลักดันการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยเชิงรุกในระยะสั้นระหว่างปี 2553 — 2556 ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการปรับกรอบและแผนการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการฯ ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้พร้อมที่จะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะขอความเห็นชอบต่อไปแล้ว
ในรอบสัปดาห์ผ่านมา (2-8 ส.ค. 2553) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 947.81 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 505.38 ตัน สัตว์น้ำจืด 442.43 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.33 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.99 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 126.20 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 14.51 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 59.34 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.72 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.15 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.43 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.86 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61.59 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.73 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 127.14 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 122.86 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.28 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.48 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 119.69 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.79 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 123.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 125.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.67 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.62 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.05 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 5.57 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 70.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 143.57 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 145.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.06 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 9.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.27 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 4 — 10 ก.ย. 2553) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 28.90 บาท ลดลงจากิโลกรัมละ 29.59 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.69 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6 — 12 กันยายน 2553--