สศข.7 เผยผลการประเมินโครงการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังของจังหวัดชัยนาท

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2010 13:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาทให้การสนับสนุนการติดตามประเมินผลโครงพัฒนาจังหวัดที่สำคัญ เผยผลการประเมินพบการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์เพียงส่วนหนึ่ง เหตุจากปัจจัยกระทบหลายอย่างอาทิเพลี้ยแป้งระบาดส่งผลให้มันสำปะหลังมีอาการแคระแกรนหยุดการเจริญเติบโต ชี้ควรกำหนดตัวชี้วัดแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจนเพื่อการติดตามผลงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) จังหวัดชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดชัยนาทให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จึงได้ติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนาทางการเกษตรของจังหวัดชัยนาทหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังพันธุ์ดี และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตส้มโอขาวแตงกวา โครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังพันธุ์ดี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของการปลูกมันสำปะหลังของจังหวัดและเพิ่มผลผลิตรวมของจังหวัดด้วยการสนับสนุนท่อนมันสำปะหลังพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรจำนวน 80 ราย พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อปลูกและขยายพันธุ์แจกจ่ายเกษตรกรข้างเคียงเพื่อนำไปปลูกและขยายพันธุ์ในปีต่อไป รวมทั้งให้การสนับสนุนการฝึกอบรม ดูงานและจัดทำแปลงสาธิตพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต สระน้ำตัวอย่าง จำนวนอย่างละ 10 ราย เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเรียนรู้พัฒนาการปลูกมันสำปะหลังและเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากการศึกษาของจริงในแปลงสาธิต

สำหรับการประเมินผลพบว่า โครงการดังกล่าวยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์หลักคือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของจังหวัด เนื่องจากปัจจัยที่มาจากภายนอกมีผลกระทบอย่างมากได้แก่ การระบาดของเพลี้ยแป้งที่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหลายจังหวัด เช่น จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี กาญจนบุรีและระบาดมาสู่จังหวัดชัยนาทและแปลงมันสำปะหลังของโครงการ ส่งผลให้มันสำปะหลังมีอาการแคระแกรนหยุดการเจริญเติบโต หัวมันมีขนาดเล็ก ผลผลิตมันสำปะหลังของโครงการที่สำรวจได้มีน้ำหนักเพียงไร่ละ 2.828 ตัน ต่ำกว่าผลผลิตปรกติก่อนดำเนินโครงการร้อยละ 14.90 และต่ำกว่าเป้าหมายของโครงการร้อยละ 19.89 และมีผลกระทบต่อพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังของจังหวัด จากที่เคยปลูกได้ในปี 2552 จำนวน 74,870 ไร่ ได้รับผลผลิต จำนวน 245,648 ตัน เหลือเพียง 69,813 ไร่ ผลผลิต 179,070 ตัน ลดลงทั้งพื้นที่และผลผลิตร้อยละ 6.75 และ 27.10 ตามลำดับ นอกจากนั้นความเชื่อมั่นของพันธุ์ส่งเสริมระยอง 9 ก็ลดลง เกษตรกรมีการเก็บพันธุ์ไว้ปลูกและกระจายให้เพื่อนบ้านไปขยายพันธุ์ต่อในปีถัดไปมีเพียงร้อยละ 37.4

นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินผลโครงการเป็นปัจจัยสำคัญในการติดตามและวัดผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของโครงการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ทราบว่าโครงการนั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เป็นการสนองตอบต่อการปฏิบัติราชการตามแนวทางการบริหารงานกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งการติดตามประเมินผลจะสะดวกมากยิ่งขึ้นถ้าผู้เสนอโครงการกำหนดตัวชี้วัดแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจนว่าต้องการผลลัพธ์อะไร จะทำให้การประเมินผลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ