1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติ ครม เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 1 ดังนี้
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)
- การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 1 มิ.ย. — 30 พ.ย. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ค. -31 มี.ค.54
- การประชาคม 16 มิ.ย. — 15 ธ.ค.53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 15 เม.ย.54
- ออกใบรับรอง 16 มิ.ย. — 31 ธ.ค. 53 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 1 ส.ค. 53 — 30 เม.ย.54
- ทำสัญญาประกันรายได้ 1 ก.ค. 53 — 31 ม.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ส.ค. 53 — 31 พ.ค.54
- ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ส.ค. 53 - 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค.54
- ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง 1 ส.ค. 53 — 15 มี.ค. 54 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) 16 ก.ย. 53 — 15 ก.ค.54
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ไม่เกิน 14 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53 * โดยเกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง
ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง
หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ไม่เกิน 16 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจาก
ผู้ส่งออกได้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นหลังจากที่เงียบเหงามานาน เพราะในช่วงนี้เวียดนามชะลอการขาย ขณะเดียวกันข้าวขาวเวียดนามมีราคาสูงใกล้กับข้าวไทยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะซื้อข้าวไทยเพราะมีคุณภาพดีกว่าข้าวเวียดนาม
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 20 กันยายน 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 5,807 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก6,276ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.47 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,955 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,868 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,513 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,455 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,588 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,826 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.51
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,513 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,455 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,417 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,000 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21
ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,122 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (34,212 บาท/ตัน)ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,111ดอลลาร์สหรัฐ (33,964บาท/ตัน)ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 248 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,919 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 841 ดอลลาร์สหรัฐ (25,710บาท/ตัน)ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 209 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,033 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 481 ดอลลาร์สหรัฐ (14,705 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 328 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,118 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 452 ดอลลาร์สหรัฐ (13,818 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 300 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 553ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,862 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 531ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,233บาท/ตัน)ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.14และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 629 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.4924 บาท
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 พายุมรสุมอาจส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวในอินเดีย
นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า การเพาะปลูกข้าวของอินเดียในฤดูคารีฟอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักประมาณร้อยละ 15-20 จากการเกิดขึ้นของพายุมรสุม เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีในเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มักจะเกิดในข้าวที่ไม่ใช่สายพันธุ์บาสมาติ
จากการรายงานของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้เริ่มระบาดในนาข้าว โดยเริ่มจากรัฐหรยานาและจะมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆในอนาคต โดยจากเดิมที่มีการตั้งเป้าการผลิตในปีนี้ไว้ที่ 1.205 ล้านเฮกตาร์ (7.531 ล้านไร่) คงเหลืออยู่ประมาณ 1.150 ล้านเฮกตาร์ (7.188 ล้านไร่) ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2553 พื้นที่การเพาะปลูกข้าวได้รับผลกระทบไปแล้วทั้งสิ้น 28,600 เอเคอร์ (71,500 ไร่)
2.2 ฟิลิปปินส์อาจนำเข้าข้าว 1 ล้านตันปีหน้า
กรมการเกษตรแห่งฟิลิปปินส์ยอมรับว่า จากกรณีที่ประเทศได้รับผลกระทบจากพายุกิสนาและปาร์มาในปี 2552 ทำให้การผลิตภาคการเกษตรในไตรมาสที่ 1 และ 2 ลดลงร้อยละ 2.88 และ 2.18 ตามลำดับ และอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องขายข้าวในราคาต่ำกว่าที่ซื้อมา เพื่อให้ประชากรโดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจนมีอาหารสำหรับการบริโภค อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถฟื้นฟูภาคการเกษตรได้เท่าที่ควร ทำให้ฟิลิปปินส์อาจต้องนำเข้าข้าว 1 ล้านตัน ในปี 2554 แต่จะเป็นปริมาณการนำเข้าที่ต่ำกว่าในปีนี้ซึ่งมีการนำเข้าประมาณ 2.45 ล้านตัน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 — 26 กันยายน 2553--