3 กระทรวงร่วมเปิดตัวโครงการนำร่องเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Monday October 4, 2010 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม นำร่องโครงการบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม หวังเกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนต่อสาธารณะ ต่อบุคคล จนถึงระดับประเทศชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน พร้อมผลักดันแนวทางยกระดับศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่นำร่องให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดตัวโครงการนำร่องการบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และ อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ณ บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนครราชสีมา โดยมีที่ ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกนก คติการ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นพ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์) ให้เกียรติเป็น ประธานร่วมในพิธีเปิด

สำหรับโครงการดังกล่าว นับเป็นโครงการที่บูรณาการร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวง ในระดับพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นและชุมชนผู้ปลูกมันสำปะหลังที่อยู่ในระดับ 50 กิโลเมตรจากบริษัทสงวนวงษ์ อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ทีพีเคเอทานอล จำกัด ส่วนที่ 2 คือ ประโยชน์ต่อบุคคล ซึ่งจะมีผลต่อเกษตรกร และบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยบริษัททั้ง 2 แห่งนี้ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CRS) “ชุมชน” หรือ “คนในชุมชน” ที่องค์กรตั้งอยู่ ด้วยการมีส่วนในการสนับสนุนโครงการนำร่องดังกล่าวให้เกิดขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อสังคมและชุมชน ตลอดจนผลประกอบการของธุรกิจด้วย สำหรับส่วนที่ 3 คือประโยชน์ของประเทศชาติ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวทางการบูรณาการโครงการฯ จะดำเนินการผลักดันการเพิ่มผลผลิตมัน สำปะหลังเพื่อให้คุณภาพและปริมาณสอดคล้องตามความต้องการซื้อ สนับสนุนการจัดการของเสียจากการผลิต ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้ง ผลิตภัณฑ์อาหาร และพลังงาน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาคลัสเตอร์มันสำปะหลังให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมใน จังหวัดนครราชสีมา โดยมีสถาบันการศึกษา สถาบันองค์กรวิจัย และมูลนิธิเอกชน เข้ามาช่วยในด้านการวิจัยและ พัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินงานในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ได้มีการมอบหมายให้กับหน่วยงานใน ระดับพื้นที่เข้าจัดกิจกรรมและจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายแล้ว เพื่อยกระดับศักยภาพการ ผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่นำร่องให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและพลังงานต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ