รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประจำเดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2553
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2553 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 2.0 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.4 ลดลงจากร้อยละ 65.4 ในเดือนมิถุนายน 2553
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนกันยายน 2553

อุตสาหกรรมอาหาร

  • การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า อาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปัญหาโรคระบาดและภาวะภัยแล้ง
  • สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับข่าวการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลด้านจิตวิทยาและการปรับราคาสินค้าขึ้นในอนาคต

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า
  • แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านการผลิต ให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และการปรับตัวด้านการตลาด โดยการขยายตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน หรือตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก และคาดว่า ในอนาคตจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญสำหรับไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มิ.ย. 53 = 194.2

ก.ค. 53 = 190.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • น้ำตาล
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 53 = 65.4

ก.ค. 53 = 62.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2553 มีค่า 190.2 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 (194.2) ร้อยละ 2.1 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2552 (168.1) ร้อยละ 13.2

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เบียร์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.4 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 (ร้อยละ 65.4) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2552 (ร้อยละ56.8)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ได้แก่ ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 334 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 325 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 2.77 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 29,292.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งมีการลงทุน 12,444.69 ล้านบาท ร้อยละ 135.38 แต่การจ้างงานรวมมีจำนวน 6,546 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,278 คน ร้อยละ 10.06

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 387 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 13.70และการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,037 คน ร้อยละ 27.56 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน 18,623 ล้านบาท ร้อยละ 57.29

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ในบ้านเรือนจากไม้ จำนวน 34 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ขุด ตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 22 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คือ อุตสาหกรรม ผลิตอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด และผลิตน๊อตสกรูเงินลงทุน จำนวน 9,345.69 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 6,150.65 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คืออุตสาหกรรมผลิตอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด และผลิตน๊อตสกรูจำนวนคนงาน 1,161 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม เลื่อย ไส และซอยไม้ แปรรูปไม้ยางพาราเพื่อจำหน่าย จำนวนคนงาน 430 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 152 ราย คิดเป็นร้อยละ 31.58 การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,014คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,478 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,167.74 ล้านบาท มากกว่าเดือนมิถุนายน 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 883.17 ล้านบาทภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 144 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 27.78 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,636.59 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,586 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องประดับจากพลาสติก จำนวน 17 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 10 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์จากหิน เงินทุน 169.69 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องใช้เล็ก ๆ จากโลหะ เงินทุน 142.23 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใย คนงาน 319 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ 213 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม —กรกฎาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 799 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 486 โครงการร้อยละ 64.40 และมีเงินลงทุน 303,400 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 115,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 163.14

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2553
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)         มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               327                     91,900
          2.โครงการต่างชาติ 100%              277                     99,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        195                    111,700
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2553 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 136,400 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 46,900 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม อาหาร คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลง ในส่วนการจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้นภายหลังปัญหาชุมนุมทางการเมืองคลี่คลายผนวกกับผลด้านจิตวิทยาต่อข่าวการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการต่อราคาสินค้าที่จะปรับขึ้นในอนาคต

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2553 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 8.2 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 46.2 6.8 และ 4.7 จากปัญหาโรคระบาดในมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบขาดแคลน รวมถึงอยู่นอกช่วงการผลิตซึ่งจะมีวัตถุดิบลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 และ 3.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้อาหารไก่ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้การนำเข้าในราคาเปรียบเทียบลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553 สินค้าอาหารและเกษตรมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 23.9 และ 16.0 จากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังปัญหาชุมนุมทางการเมืองคลี่คลาย

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.1 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 22.0 จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศในทุกสินค้าลดลงตามฤดูกาลโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋องไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 29.6 13.0 9.5 7.0 7.1 และ 6.7 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า อาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปัญหาโรคระบาดและภาวะภัยแล้ง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับข่าวการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลด้านจิตวิทยาและการปรับราคาสินค้าขึ้นในอนาคต

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...แนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ ต้นน้ำและกลางน้ำ...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1, 3.7, 6.4 และ 6.6 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7, 6.5, 19.9 และ 9.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วประกอบกับแนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ ต้นน้ำและกลางน้ำที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญรองจากจีน

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553 ส่วนใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสำหรับการส่งออกลดลงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลงร้อยละ 3.9, 7.9, 5.0, 2.9,1.5 และ 19.1 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5, 17.0, 29.7, 17.8, 27.3 และ 18.4 ตามลำดับ สำหรับการส่งออก หดตัวในตลาดหลักทุกตลาดเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ยกเว้นตลาดญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวร้อยละ7.3 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกยังขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9, 26.1, 1.9 และ 8.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนกันยายน คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าแต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านการผลิต ให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และการปรับตัวด้านการตลาด โดยการขยายตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน หรือตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก และคาดว่า ในอนาคตจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญสำหรับไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • กระทรวงการคลัง กระทรวงสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสรรพากรแห่งชาติของประเทศจีน ได้ร่วมกันเสนอแผนต่อสภาแห่งชาติและคณะรัฐบาลเพื่อเป็นการทดลองบังคับใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในจังหวัดที่ถูกกำหนดในแผน มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 135.99 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กแผ่น พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.97 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.19 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งได้ดำเนินการผลิตตามปกติหลังจากเดือนที่แล้วได้ปิดเตาเป็นการชั่วคราว รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.27 สำหรับเหล็กทรงยาวการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.09 โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 128.47 และเหล็กเส้นข้ออ้อยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.03 ซึ่งสาเหตุที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการรักษาระดับปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสมหลังจากที่ลดลงเมื่อเดือนก่อน

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.80 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.06 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.67 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.37 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.72 โดย เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.34 รองลงมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.23

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 472 เป็น 545 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.55เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 508 เป็น 565 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.15เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 558 เป็น 568 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.64 เนื่องจากราคาเศษเหล็กที่เพิ่มขึ้นจาก 365 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนมาเป็น 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในปลายกรกฎาคม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีราคาลดลง ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 688 เป็น 673 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 2.21 และ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 501 เป็น 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 2.20

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนกันยายน 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่ทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่ สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 145,771 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 74,983 คัน ร้อยละ 94.41 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 20.09 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 65,672 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 43,156 คัน ร้อยละ 52.17 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 6.92
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 87,605 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 36,555 คัน ร้อยละ 139.65 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลางแอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 26.45
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 42 และส่งออกร้อยละ 58

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 186,349 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 135,349 คัน ร้อยละ 37.68 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรถจักรยานยนต์ทุกประเภท (แบบครอบครัวและแบบสปอร์ต) แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 7.34
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 243,251 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 138,898 คัน ร้อยละ 75.13 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 33.21
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 17,323 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 4,536 คันร้อยละ 281.90 ส่วนหนึ่งมาจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ส่งออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ไปตลาดต่างประเทศ และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2553 ร้อยละ 42.40
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม2553 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2553ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 91และส่งออกร้อยละ 9
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นสำหรับการส่งออกชะลอตัวลง แต่ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลง ร้อยละ 1.94 และ 5.79 ตามลำดับ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.59 และ 5.56 ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.09 และ 20.35 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมา คือ เมียนมาร์ บังคลาเทศและเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

สำหรับการส่งออก ถึงแม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงแต่ในภาพรวมคาดว่ายังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

-ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนสิงหาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

-ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2553 ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2553

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์          มูลค่า           %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์              1,432.65           -13.59           12.39
          IC                            722.44           -14.73           20.71
          เครื่องปรับอากาศ                 254.44            -7.86           40.18

เครื่องคอมเพรสเซอร์ของ

          เครื่องทำความเย็น                201.13           153.00          242.36

รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า

          และอิเล็กทรอนิกส์               4,519.12            -8.95           23.68

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.41 เนื่องจากการผลิตได้เร่งตัวสูงขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.45 เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูง เช่นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ และ IC เป็นต้น เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.95 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.25 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องทำความเย็นเป็นหลัก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวจากการผลิตเพื่อการส่งออกได้แก่ ตลาดอียูและอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.92 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39 ทั้งนี้แนวโน้มการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีตามคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับสูง

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 8.95 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.68 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,519.12 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 1.36 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.89ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็นโดยมีมูลค่าส่งออกคือ 254.44 ล้านเหรียญสหรัฐและ 201.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.51 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี โดยมีมูลค่าส่งออกคือ 1,432.65 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 722.44 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนสิงหาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ