“อุตฯ”ผนึก “เสมา”แก้ปัญหาบุคลากร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ-ศึกษาฯ ลุยสางปัญหาบุคลากรทั้งระบบ เน้นร่วมวางแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน หวังสร้างคนสอดคล้องงาน รับทิศทางการขยายตัวภาคอุตฯ และเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่ มั่นใจส่งไทยสู่เจ้าอาเซียนทุกมิติ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเข้ามาอย่างมากมาย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

“หลังจากภาคอุตสาหกรรม เผชิญภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรงนับจากกลางปี 2551 ภาคอุตสาหกรรมติดลบครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2551 คือ -0.9% และ หนักสุด-25.6% ในเดือนมกราคม 5252 หลังจากนั้นก็ค่อยๆฟื้นตัวกลายเป็นบวก ในเดือนกันยายน 2552 ใช้เวลาเพียง 10 เดือน ถือว่าภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้เร็วมาก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในอาเซียนในทุกๆด้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ภาคอุตสาหกรรมเริ่มประสบปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก นี่คือปัญหาหลักของภาคอุตสาหกรรม ณ ขณะนี้ จะทำอย่างไรถึงจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพสู่ภาคอุตสาหกรรม จะทำอย่างไรจะมีบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ จะทำอย่างไรจะสามารถแก้ปัญหาด้านบุคลากรภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลสำหรับการเกิดความร่วมมือในวันนี้” นายชัยวุฒิ กล่าว

ขณะที่ นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการกำกับดูแลการผลิตกำลังคนระดับปริญญาเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษามีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมร่วมกันผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริมสหกิจศึกษา (Co-operative Education) ให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการประมาณ 1 -2 ภาคการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การปฏิบัติงานเต็มรูปแบบหลังจบการศึกษา นอกจากนี้ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ยังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการร่วมกันจัดทำโครงการผลิตและพัฒนากำลังคน เช่น ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ยานยนต์ เป็นต้น

“การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ กับสถาบันอุดมศึกษา แต่วันนี้ เป็นการดำเนินงานระดับนโยบายของประเทศ ที่มีรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลการประกอบกิจการอุตสาหกรรมของประเทศ และรัฐมนตรีที่ดูแลกำกับเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีการขยายผลการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น และหากกลุ่มอุตสาหกรรมใดหรือสถาบันอุดมศึกษาใดยังไม่เคยมีความร่วมมือ จะได้มีตัวอย่างและได้เริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแนวทางความร่วมมือดังกล่าว จะสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้น สู่การเป็นผู้ทำในทุกด้านของอาเซียน รองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ต่อไป” นายไชยยศ กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นหน่วยงานหลัก จัดการเรียนการสอนวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาอยู่แล้ว ดังนั้น การลงนามความร่วมมือ 3 หน่วยงานในระดับนโยบายวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญและเป็นการตอกย้ำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่จะพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนให้กับประเทศ โดยเน้นความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการศึกษาของภาครัฐ และเอกชน กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของประเทศให้เป็นผู้มีทักษะฝีมือและปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และนานาชาติต่อไป

“เพื่อเป็นการขับเคลื่อนความรู้และทักษะวิชาชีพเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำผู้เรียนอาชีวศึกษาเข้าทำงานในสถานประกอบการ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และพัฒนาผู้เรียน ผู้สอน และพัฒนาหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยในเบื้องต้นได้กำหนดจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และราชบุรี โดยจะทดลองนำร่องที่จังหวัดเพชรบุรีก่อน แล้วนำไปขยายผลอีก 6 จังหวัด ซึ่งการทำความตกลงในครั้งนี้ ยิ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีพลังยิ่งขึ้น ปัญหาด้านบุคลากรย่อมได้รับการแก้ไขในทางที่ดี เพื่อประเทศไทยเป็นผู้นำในทุกๆมิติต่อไป” นางสาวนริศรา กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ