รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 15:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนสิงหาคม 2553
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2553 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 3.1 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเนื่องจากฐานตัวเลขการผลิตของครึ่งปีหลังปี 2552 ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ภาวการณ์ผลิตที่ปกติแล้ว การผลิตยังคงขยายตัวได้ในหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่นยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.0 ลดลงจากร้อยละ 64.8 ในเดือนกรกฎาคม 2553

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนตุลาคม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงทางการค้าเสรีของอาเซียน และอาเซียน-จีน ที่ภาษีสินค้าปกติลดลงเหลือร้อยละ 0 ส่งผลให้สิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
  • อย่างไรก็ตามปัญหาฝ้ายที่ปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยรับคำสั่งซื้อในช่วงสั้นๆ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลก่อสร้าง
  • สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.ค. 53 = 190.1

ส.ค. 53 = 184.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.ค. 53 = 64.8

ส.ค. 53 = 64.0

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เส้นใยสิ่งทอ
  • เหล็ก

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคม 2553 มีค่า 184.1 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553(190.1) ร้อยละ 3.1 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนสิงหาคม 2552 (169.5) ร้อยละ 8.7

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.0 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 (ร้อยละ 64.8) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนสิงหาคม 2552 (ร้อยละ56.9)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 309 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 334 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 7.49 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,997.68 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 29,292.07 ล้านบาท ร้อยละ 69.28 แต่การจ้างงานรวมมีจำนวน 6,984 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2553ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,546 คน ร้อยละ 6.69

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 346 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10.69 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน 17,867 ล้านบาท ร้อยละ 49.64 และการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนสิงหาคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,151 คน ร้อยละ 2.34

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2553 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ในบ้านเรือนจากไม้ จำนวน 25 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรม ซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 19 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2553 คืออุตสาหกรรม ผลิตอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด และผลิตน๊อตสกรูเงินลงทุน จำนวน 1,817.96 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 908.88 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2553 คืออุตสาหกรรมผลิตอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด และผลิตน๊อตสกรูจำนวนคนงาน 459 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตผลิตภัณฑ์แผ่นโลหะและอุปกรณ์ เช่นหลังคาหรือผนังอาคาร ประตูม้วน จำนวนคนงาน 406 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 102 ราย น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.92 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม ,341.69 ล้านบาท มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,167.74 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,047 คน มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,014 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 92 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 10.87 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนสิงหาคม 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 360.69 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนสิงหาคม2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 972 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 16 โรงงานรองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 10 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2553 คืออุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถจักรยานยนต์ จักรยานสามล้อ สองล้อ เงินทุน ,830.72 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วงเงินทุน 750.27 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2553คือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถจักรยานยนต์ จักรยานสามล้อ สองล้อ คนงาน ,149 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 859 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — สิงหาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 942 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 590 โครงการร้อยละ 59.66 และมีเงินลงทุน 333,900 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 126,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 163.74

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — สิงหาคม2553
            การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)           มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 391                     101,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%                324                     115,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          227                     117,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — สิงหาคม 2553 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 142,900 ล้านบาทรองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 60,800 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับการชะลอรับคำ สั่งซื้อจากต่างประเทศจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและผลด้านจิตวิทยาต่อข่าวการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนสิงหาคม 2553 ลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.3 และ 1.3 ตามลำดับ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่นแป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 40.0 และ 9.9 จากปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบขาดแคลน ประกอบกับอยู่นอกช่วงฤดูการผลิต ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่นน้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2และ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นนอกจากนี้อาหารไก่ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในราคาเปรียบเทียบลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนสิงหาคม 2553 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 18.2 และ 3.8จากการลดลงของการจับจ่ายใช้สอยจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่นราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้ง

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.9 และ 10.6จากการชะลอรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการผลิตลดลงตามฤดูกาล โดยเฉพาะน้ำ ตาลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งผลให้มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 45.5 2.2 และ 7.2 ตามลำดับ แต่หากไม่รวมน้ำตาล พบว่ามูลค่าการส่งออกอาหารจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.5

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า อาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชะลอการรับคำสั่งซื้อสำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับข่าวการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลด้านจิตวิทยาและการปรับราคาสินค้าขึ้นในอนาคต

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...ปัญหาฝ้ายปรับราคาสูงขึ้นและปัญหาเงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยรับคำสั่งซื้อในช่วงสั้นๆ...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนสิงหาคม 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอลดลงร้อยละ 5.2, 2.9, 1.9 และ 3.8 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7, 2.8, 34.3และ 20.5 ตามลำดับ เนื่องจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและจีน ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้านวัตถุดิบในการผลิตและส่งออก

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนสิงหาคม 2553 ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกลดลงร้อยละ2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ ลดลงร้อยละ 7.2, 2.2, 5.9 และ 7.6 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4, 37.0, 77.1, 20.5, 21.7 และ 19.6 ตามลำดับ สำหรับการส่งออก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น ร้อยละ 5.2 และ 1.5 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2, 35.6, 15.7 และ 28.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนตุลาคม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงทางการค้าเสรีของอาเซียน และอาเซียน-จีน ที่ภาษีสินค้าปกติลดลงเหลือร้อยละ 0 ส่งผลให้สิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากแต่อย่างไรก็ตามปัญหาฝ้ายที่ปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยรับคำสั่งซื้อในช่วงสั้นๆ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • จากรายงานจากสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าของญี่ปุ่น (JISF) พบว่าปริมาณผลผลิตเหล็กดิบในเดือนสิงหาคมลดลงราว 3.5% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ซึ่งถึงแม้ว่ายอดการผลิตดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว แต่ทาง JISF ระบุว่าเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากระดับการขยายตัวในระดับตัวเลข 2 หลัก ทั้งนี้ยอดผลผลิตจากเตาออกซิเจนลดลง3.5% เทียบกับเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.06 ล้านตัน ส่วนผลผลิตจากอาร์คไฟฟ้าลดลง 3.6% เทียบกับเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.84 ล้านตัน โดยสาเหตุการลดลงของผลผลิตเตาอาร์คไฟฟ้ามาจากระดับความต้องการเหล็กสำหรับงานก่อสร้างที่ลดลง ส่วนผลผลิตจากเตาออกซิเจนลดลงเพราะยอดการส่งออกที่ลดลงตามระดับราคาในตลาดโลกที่ตกต่ำลง

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนสิงหาคม 2553 ลดลง ร้อยละ 6.23 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กแผ่น พบว่า ลดลงร้อยละ 5.17 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 30.40 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลง ร้อยละ 24.71 โดยดัชนีส่งสินค้าของสินค้าในกลุ่มนี้ลดลงด้วยเนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องชะลอตัวลง นอกจากนี้เป็นผลมาจากที่ผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบในประเทศได้ปรับราคาสูงขึ้นจึงทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งหันไปนำเข้าจากจีนแทน แต่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.38สำหรับเหล็กทรงยาวการผลิตลดลง ร้อยละ 4.88 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 12.94 และเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 7.03 เนื่องจากความต้องการในประเทศยังคงชะลอตัวตามปัจจัยทางด้านฤดูกาล

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.01 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.17ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.56 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.23 สำหรับเหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 1.53 โดย เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 16.82

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกันยายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 123.36 เป็น 136.44 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.60 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 121.27เป็น 127.65 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.26 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 125.88 เป็น 131.05 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.11 เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 123.25 เป็น 126.74 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.83 เหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นจาก 86.31 เป็น 87.01 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.81

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนตุลาคม 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่ สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2553 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ทั้งการจำ หน่ายในประเทศ และการส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 141,043 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 84,170 คัน ร้อยละ 67.57 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 3.24 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 65,724 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 43,251 คัน ร้อยละ 51.96 และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2553ร้อยละ 0.08
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 77,750 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 43,106 คัน ร้อยละ 80.37 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลางแอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 11.25
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2553คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกันยายน 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 42 และส่งออกร้อยละ 58

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 166,178 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 135,161 คัน ร้อยละ 22.95 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรถจักรยานยนต์ แบบครอบครัว แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 10.82
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 162,516 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 121,348 คัน ร้อยละ33.93 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 3.83
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 16,330คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 8,397 คันร้อยละ 94.34 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 5.80
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 92 และส่งออกร้อยละ 8
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“การผลิตและการจำ หน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างไรก็ตามในภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นสำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนายังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนสิงหาคม 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง ร้อยละ 8.55 และ1.75 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลง ร้อยละ 2.46 และ 2.18 ตามลำดับ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58 และ 18.58 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมา คือ เมียนมาร์ บังคลาเทศและเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลก่อสร้างสำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

-ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกันยายน 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

-ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2553 ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 21.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ส.ค. 2553
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า            %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                         1,553.79           8.46           3.85
          IC                                       794.34           3.72          20.87
          เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น        251.31          24.95         360.19
          เครื่องปรับอากาศ                            221.76         -12.84          54.83
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์            4,924.74           8.98          27.51

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.17 เนื่องจากการผลิตได้เร่งตัวสูงขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ และ IC เป็นต้น เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.50 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และราคาสินค้าที่ถูกลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.29 การผลิตที่ลดลงในหมวดอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตมากในช่วงก่อนหน้า และมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต IC สำหรับการผลิต Hard Disk Drive หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากฐานสูง จากที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้แนวโน้มการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีตามคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับสูง

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 8.98 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.51 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,924.74 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.86 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.50 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น และเครื่องปรับอากาศ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.49 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูงที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกันยายน 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำ ลองดัชนีชี้นำ ภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 21.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ