"...เดือนสิงหาคม 2553 อัตราการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติที่ร้อยละ 8.67 หลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้การผลิตยังคงขยายตัวได้ในหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 27.4..."
อุตสาหกรรมภาพรวม
การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(ก) ขยายตัวร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือน กรกฎาคม 2553 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 13.1 ทั้งนี้อัตราการขยายตัวเริ่มชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า
อัตราการใช้กำลังการผลิต(ข) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 64.79 ในเดือนกรกฎาคม 2553 เป็นร้อยละ 64.03 ในเดือนสิงหาคม 2553 แต่ก็อยู่ในระดับที่มากกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ที่อยู่ที่ร้อยละ 62.6
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 27.4 โดยขยายตัวดีทั้งในตลาดสำคัญ และในสินค้าส่งออกที่สำคัญ
หมายเหตุ
(ก) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์
(ข) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)
อุตสาหกรรมรายสาขา
- อุตสาหกรรมอาหาร มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.3 โดยสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 40.0 และ 9.9 จากปัญหาปริมาณวัตถุดิบขาดแคลน และอยู่นอกช่วงการผลิต ซึ่งจะมีวัตถุดิบลดลง รวมถึงโรคระบาดในมันสำปะหลังกลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ด้านการส่งออกโดยรวมของในรูปเงินบาทลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.9 จากการชะลอรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการผลิตลดลงตามฤดูกาล
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7, 2.8, 34.3 และ 20.5 ตามลำดับ เนื่องจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้นน้ำ และกลางน้ำ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดอาเซียนและจีน ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้านวัตถุดิบในการผลิตและส่งออกทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2, 35.6, 15.7 และ28.4 ตามลำดับ
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.01 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.17 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.56 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.23 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 1.53 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 16.82 เนื่องจากการก่อสร้างลดลงจากการเข้าสู่ฤดูฝน ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก(FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ(Black Sea) ในช่วงเดือนกันยายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น
- อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำ นวน 141,043 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 67.57 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท(รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 3.24 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท สำหรับการส่งออกยังขยายตัวดีที่ ร้อยละ 80.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 และถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และราคาสินค้าที่ถูกลง
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.29 โดยการผลิตที่ลดลงในหมวดอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตมากในช่วงก่อนหน้า และมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต IC สำหรับการผลิต Hard Disk Drive หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากฐานสูง จากที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้แนวโน้มการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีตามคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับสูง
ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.51 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,924.74 ล้านเหรียญสหรัฐ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--