สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ปัจจุบันมีการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการป้องกันและลดปัญหามลพิษในอากาศจากเครื่องยนต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน กิจการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นว่า มาตรฐานดังกล่าวจำเป็นต้องเข้มงวดเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ที่ได้ดำเนินการไว้แล้วในอดีตและสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งอย่างยั่งยืนและเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลที่มีการบังคับใช้ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและลดปัญหามลพิษในอากาศจากเครื่องยนต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนได้ ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าในตลาดโลก

2. คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้พิจารณาเห็นสมควรกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2320 — 2552

3. สมอ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ปรากฏว่าไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นภายในกำหนดเวลา จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.2320 — 2552 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4092 (พ.ศ. 2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552 (ที่มา : www.thaigov.go.th)

  • สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม24 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 8,072.55 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ181.20 ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น 2,893 คน ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการของบริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์)จำกัด โครงการ 1 ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยางรถยนต์เรเดียล มีเงินลงทุน 1,740.10 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 101 คน และโครงการของ บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โครงการ 2ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยางรถยนต์เรเดียล มีเงินลงทุน 2,684.15 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย268 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

อุตสาหกรรมรถยนต์โลก (รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2553)

  • อุตสาหกรรมรถยนต์โลกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-พ.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 29,881,865 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 47.10 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง22,361,644 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 7,520,221 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ44.10 และ 56.80 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกาพบว่า จีนมีการผลิตรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 7,535,424 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.22 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก และสหรัฐอเมริกามีการผลิตรถยนต์ในช่วง 5เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 3,171,473 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.61 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก สำหรับการจำหน่ายรถยนต์โลกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการจำหน่ายรถยนต์ 34,617,733 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 20.00 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 25,713,141 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 18.10 และมีการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 8,904,592 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 25.90 เมื่อพิจารณาประเทศที่สำคัญ พบว่า จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) จำนวน 9,016,455คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.05 ของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก และสหรัฐอเมริกามีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) จำนวน 5,703,750 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.48ของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีน มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี2553 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 11,489,349 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 39.60 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 8,648,615 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.50 และการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2,840,734 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.40 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน11,582,775 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 39.30 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง8,685,951 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.80 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2,896,824 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.10
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 5,108,036 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 56.40แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 1,884,028 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.60 และการผลิตรถบรรทุก 3,224,008 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.00 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ค.) จำนวน 6,769,088 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 14.70 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง3,359,078 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.70 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 3,410,010 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.70

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 1,197,318 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.74 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง 391,861 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 788,919 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 16,538คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.25 , 82.54 และ 62.79 ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 669,993 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.96 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพื่อการส่งออก ร้อยละ 76.85 และการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกร้อยละ 23.15 สำหรับรถยนต์นั่งที่มีการผลิตเพื่อส่งออกมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์1,201-1,500 ซีซี รองลงมาคือ รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,501-1,800 ซีซี และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 428,236 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.11 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ70.48, 59.55 และ 57.47 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.90 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.88, 10.36 และ 12.03 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 556,349 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.81 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 241,574 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 240,585 คัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ35,143 คัน และรถยนต์ PPV รวม SUV 39,047 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.09, 44.41, 52.85 และ 62.07ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีการจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 199,657 คันเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.83 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.60, 40.34, 39.56 และ 57.73 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและรถยนต์ PPV รวม SUV เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.46, 10.07 และ 5.45 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.24

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553(ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 664,853 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.75 ถ้าคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 306,927.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 80.06 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ จำนวน 246,675 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 111,794.22 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.20 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 79.92 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.42 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.19

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 164,575.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 75.20 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20.42, 14.01 และ 9.28 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ67.92, 182.96 และ 66.79 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 120,449.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 95.81 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพ ได้แก่ ออสเตรเลีย ชิลี และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 32.62, 5.23 และ 4.93 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปออสเตรเลีย ชิลี และมาเลเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.01, 1,871.06 และ 91.67 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วง 9 เดือนของแรกปี 2553 มีมูลค่า 23,920.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 28.84 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุก ได้แก่ ซาอุดิอาระเบียออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 29.47, 13.60 และ 10.10ตามลำดับ โดยการส่งออกรถบัสและบรรทุกไปซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.04 และ 114.72 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถบัสและบรรทุกไปออสเตรเลีย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.66

การนำเข้า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถโดยสารและรถบรรทุกคิดเป็นมูลค่า 18,652.99 และ 14,768.73 ล้านบาทตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถโดยสารและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.39 และ 76.40 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก 5,983.77 และ 6,270.70 ล้านบาท ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ64.51 และ 98.92 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองปี2553 มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 7.08 แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.25 แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 24.98, 24.71 และ 17.39 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.80, 796.97 และ 224.00 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 70.80, 10.11 และ 3.70 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.18 และ 159.24 ตามลำดับ แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 16.04

อุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2552 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลก สำหรับตลาดในประเทศ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการแนะนำรถยนต์เข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปี 2553 และบางรุ่นยังคงมียอดค้างส่งมอบ ในขณะที่ตลาดส่งออกมีการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกหลัก เช่น เอเชีย, โอเชียเนียและตะวันออกกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากการยกเว้นอากรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างไรก็ดี การปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานที่ค่อนข้างต่ำใน ปี 2552สำหรับข้อมูลที่ได้จากแผนการผลิตผู้ประกอบการรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่สี่ ปี2553 ประมาณ 410,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 46 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 54

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 1,506,837 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ29.41 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 1,435,791 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.22 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 71,046 คัน ลดลงร้อยละ 24.96 ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รายใหญ่ผลิตรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 530,115 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.23 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 506,980 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.83 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 23,135 คัน ลดลงร้อยละ 0.05 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองปี 2553 มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 โดยเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 และ 39.84 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 1,404,621 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ23.44 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 643,926 คัน รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์716,517 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.22 และ 35.52 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต44,178 คัน ลดลงร้อยละ 12.13 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์จำนวน 471,406 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.07 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 214,656 คัน รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 247,734 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.54 และ 35.55 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 9,016 คัน ลดลงร้อยละ 48.59 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 และ 0.53 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 31.25

สำหรับความต้องการรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคหันไปนิยมรถจักรยานยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน อีกทั้งผู้ประกอบการมีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถประหยัดน้ำมันออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 552,633 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 107,604 คัน และ CKDจำนวน 445,029 ชุด) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.36 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก มีมูลค่า 17,324.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.05 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีปริมาณการส่งออก 207,728 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า6,767.31 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.91 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.03 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี2553 ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.71 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.34 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ สหราชอาณาจักรญี่ปุ่น และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20.74, 12.66 และ 10.28 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์(CBU) ไปสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.64 และ 159.91ตามลำดับ แต่การส่งออกรถจักรยานยนต์(CBU) ไปเวียดนาม ลดลงร้อยละ 5.26

การนำเข้า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553(ม.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์คิดเป็นมูลค่า 369.83 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.75 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 150.08 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ210.27 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ20.87 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ เยอรมนี เวียดนามและอิตาลี มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 27.16, 23.44 และ 12.48 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเยอรมนี เวียดนาม และอิตาลี เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.00, 981.10 และ 226.21 ตามลำดับ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัว สำหรับการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศมีการขยายตัว ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้น อันเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นสำ หรับตลาดส่งออกที่มีการขยายตัว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมี ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่งออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ไป ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับข้อมูลที่ได้จากแผนการผลิตผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ CBU ในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ประมาณ 470,000 คันโดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 93 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 7

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ( ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) มีมูลค่า 104,098.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 32.72 การส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 15,497.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 77.31 และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 10,766.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 15.20 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) มีมูลค่า 39,541.18 ล้านบาท การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 6,204.62 ล้านบาท และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ มีมูลค่า 3,926.07 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2552 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) และเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.08, 56.01 และ 23.23 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.09, 21.50 และ 9.22 ตามลำดับจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 122,004.81ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 38.73 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15.75, 11.42และ 10.49 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.44, 24.91 และ 61.22 ตามลำดับ

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์(OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 9,708.68 และ 476.55 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.72 และ 58.333 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2553 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์มีมูลค่า 3,251.88และ 207.15 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.31 และ 109.28 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.47 และ 51.87 ตามลำดับจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 14,654.61 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 15.98 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 25.62, 17.32 และ 9.88ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.04, 11.76 และ 8.15 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 140,500.94 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.05 เมื่อพิจารณาไตรมาสที่สามของปี 2553 ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์มีมูลค่า 53,172.68 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.68 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.83 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 62.66, 6.17 และ 5.34 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.51, 77.20 และ42.80 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 10,795.10 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.58 เมื่อพิจารณาไตรมาสที่สามของปี 2553 ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ มีมูลค่า 3,986.15 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.12 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี2553 มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.31 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 33.77, 19.34 และ 9.06 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ19.49, 22.41 และ 74.47 ตามลำดับ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ