สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากการส่งออกเป็นตัวสำคัญในการบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจไทย แต่มีการเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ในสภาวะปกติไตรมาสที่ 3 จะเป็นไตรมาสของการผลิตเพื่อขายในช่วงคริสมาสต์ และปีใหม่ แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจึงมีผลต่อภาคการผลิตไปด้วย อีกทั้งราคาส่งออกในรูปเงินบาทที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังคงมีต่อเนื่อง มีการทยอยฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในไตรมาสนี้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 6-7 ผู้บริโภคยังคงมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

ด้านตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดจีนที่เป็นคู้ค้ากับไทยมีการเติบโตภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ แต่ยังคงต้องจับตาดูการควบคุมภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนต่อไป

ด้านราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวเคลื่อนไหวเฉลี่ยรายไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยได้แก่ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกและยุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะถอดถอยอีกครั้งจนทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตในบางประเทศและปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของสหรัฐยังไม่ดีขึ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ แม้รัฐบาลยกเลิกมาตรการไม่เก็บภาษีสินเชื่อซื้อบ้าน

ราคาเอทิลีนและโพรพิลีน ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดมีความต้องการลดลง และอุปทานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันออกกลางและอิหร่าน อันเป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการของแครกเกอร์ใหม่ๆ และปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของตลาดแถบยุโรป โดยราคาเอทิลีนไตรมาสที่ 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 946เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาโพรพิลีนอยู่ที่ 1,014 เหรียญสหรัฐต่อตัน

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ด้านของการปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 เป็นผลมาจากมีความต้องการในการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกลดลง ความมั่นใจในเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลให้มีการใช้ลดลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย

การค้า

ในไตรมาสนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มีมูลค่านำเข้า 27,814 ล้านบาท มาที่ 26,173 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดยังคงอยู่ที่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 11,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวด 3921 ผลิตภัณฑ์ แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ มีมูลค่าการนำเข้า 4,183 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยมีการจากประเทศเกาหลีมากที่สุด

และปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 102,715 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ประมาณ 1% โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีปริมาณสูงถึง 24,532 ตัน คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวด 3920 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่ทำเป็นแบบเซลลูลาร์ และไม่เสริมให้แข็งแรง มีปริมาณ 25,456 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

ส่วนมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,130 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 5,764 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

และปริมาณส่งออก เท่ากับ 247,849 ตัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 77,992 ตันคิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 25,221 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

หากพิจารณาในเรื่องดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยก็ยังคงขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ทำการค้ายังคงเป็นหมวดสินค้าเดิมที่มีมูลค่าและปริมาณสูงสุด และยังมีปัญหาด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นที่จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกที่ทำให้ขายสินค้าได้ราคาถูกลง

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ยังมีปัจจัยหลายอย่างต้องคำนึงถึง จากสภาวะหลังน้ำท่วมที่บริโภคต้องการหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น อาจจะมีบางส่วนที่งดการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากไม่มีเงินในการซื้อ และเป็นไตรมาสที่เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความอ่อนไหวทางการเมืองปัญหาในการควบคุมดูแลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ที่จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกโดยตรง ทั้งนี้ต้องรอการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยในกรณีน้ำท่วมบ้านพักอาศัย หรือพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีเงินมาซื้อสินค้า เกิดวงจรการผลิตนอกจากนี้ในหลายอุตสาหกรรมก็ยังมีการประมาณการณ์ที่น่าจะเติบโตขึ้น เช่น ก่อสร้างที่ต้องการการซ่อมแซม หรือรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ