สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณ 7,686.3 ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.6 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีปริมาณการผลิต22,904.2 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.4 โดยปริมาณการผลิตขยายตัว ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเติบโตดี คือ ยาน้ำเพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมี ยาครีม ที่ขยายตัวดีเช่นกันเนื่องจากผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1 โดยเป็นการลดลงของยาน้ำ เนื่องจากมีการชะลอการผลิตลงจากที่มีการผลิตไปปริมาณมากแล้วในไตรมาสก่อน

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณ 8,070.1ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 13.8 และ 6.5 ตามลำดับ สำหรับช่วง9 เดือนแรกของปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 23,019.9 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ15.8 ซึ่งการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เนื่องมาจากไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ที่สถานพยาบาลของภาครัฐจะมีการจัดซื้อยาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเจ็บป่วยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้การจำหน่ายยาขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี โดยจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ในร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการหาลูกค้าร้านขายยาใหม่ ๆ ด้วย

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่า 10,073.2ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.5 และ 6.8 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,643.1 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 46.1 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 28,564.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.4 โดยตลาดนำ เข้าที่สำ คัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม12,584.8 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.1 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาต้นแบบ และยาสามัญ บริษัทยานำเข้าได้ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจำหน่ายยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง การเริ่มปรับราคายาบางรายการลงมาให้สอดคล้องกับรายได้ของประชากร รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมูลค่าการนำเข้ามีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก เนื่องจากภาครัฐควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ และมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่า 1,907.9ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 35.8 และ 27.5 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,287.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.5 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 4,864.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.3 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,098 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 63.7 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ การส่งออกยามีการขยายตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถขยายตลาดส่งออกทั้งเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตยาเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย ทำให้มูลค่าการส่งออกยาเพิ่มสูงขึ้น

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามยอดคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีการปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศมีการขยายตัวเช่นกัน จากความต้องการของสถานพยาบาลภาครัฐที่มีการจัดซื้อยาจำนวนมากช่วงปลายปีงบประมาณและจากอาการเจ็บป่วยของประชาชนตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี

ในส่วนมูลค่าการนำเข้ายามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาต้นแบบ และยาสามัญ แต่อัตราการขยายตัวดังกล่าวไม่ได้สูงมากนัก เนื่องจากภาครัฐควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ และมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง ในส่วนมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเช่นกัน จากการที่ผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตยาเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสสุดท้าย ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ