สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.08 และ 7.48 ตามลำดับ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญแบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38 และ 9.94 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางใน ลดลงร้อยละ 2.89 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ10.05 และ 4.08 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางใน ลดลงร้อยละ 4.96 ในส่วนของถุงมือยางมีการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 2.17 และ 11.31ตามลำดับ

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2553 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.59สำหรับการผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.19 13.64 และ12.06 ตามลำดับ และในส่วนของถุงมือยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.65

ในภาพรวมการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นขยายตัวเพิ่มขึ้น และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ10.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.36 สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีการปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.44 1.09 และ 6.10 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยางนอกรถยนต์ มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.16 ขณะที่ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน มีปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 6.16 และ 3.39 ตามลำดับ สำหรับถุงมือยางเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.67 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 19.48

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2553 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 3.52สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.65 8.82 และ 8.39 ตามลำดับ ในส่วนของถุงมือยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.85

การจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2.2 ตลาดส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 1,981.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.88 และ 93.86 ตามลำดับและในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2553 ยางแปรรูปขั้นต้น มีมูลค่าการส่งออก 5,532.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงหนึ่งเท่าตัว สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงเป็นประเทศจีนมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีจำนวน 1,672.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ12.26 และ 33.84 ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2553 การส่งออกของผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่า4,685.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยางรถยนต์ที่ขยายตัวมาก ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดโลกที่เติบโตขึ้น ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้อินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

2.3 ตลาดนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยางยาง มีมูลค่า 451.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.10 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.05 ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2553 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง วัสดุทำจากยาง มีมูลค่า 1,292.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 71.20 การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2553 ถึงแม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง รวมทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไป แต่เมื่อมองในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก ปี 2553 แล้ว อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางยังคงขยายตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTAนอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับด้านราคายางพารา คาดว่าจะยังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก รวมทั้งผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมสวนยางที่เกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอีก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ