สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 15:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้งอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 7.7 7.2 และ 1.2 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ทำให้วัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมีราคาโดยเปรียบเทียบที่ลดลง และหากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 17.5 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับปี2552 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ปี 2553 ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.8 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อย และการเร่งตัดอ้อยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ทำให้คุณภาพอ้อยลดลงการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 18.1เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูการผลิตหลัก ทำให้ปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวานลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.3 เป็นผลจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อนที่เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ
  • กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และความต้องการปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งกุ้งแปรรูปในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ยังประสบปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก แต่อาจเป็นผลดีในระยะสั้น โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาทำประมงได้ในช่วงต้นปี 2554
  • กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสามารถส่งออกไก่ต้มสุกแปรรูปไปยังตลาดEU และตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ญี่ปุ่นตรวจพบสารตกค้างในสินค้าอาหารจากจีนและการลดภาษีตามกรอบ JTEPA ทำให้หันมานำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเร่งขุดวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังเพื่อผลิตตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น หลังจากเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก และคุณภาพลดลง

สำหรับการผลิตสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคในประเทศ มีการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน ได้แก่ น้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำมัน ร้อยละ 7.5 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ปริมาณการผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เป็นผลจากปาล์มน้ำมันมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 1.2 และร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับตัวลดลงจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ปริมาณการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และ 7.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการในภาคปศุสัตว์และประมงเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการผลิตในกลุ่มแปรรูปปศุสัตว์และประมงที่เพิ่มขึ้น

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 9 เดือนของปี 2553 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้การผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวสูงขึ้นเช่น ผักผลไม้ ร้อยละ 34.1 และประมง ร้อยละ 6.2 สำหรับสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ในส่วนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักจะขยายตัว เช่น น้ำมันพืช ขยายตัวร้อยละ 7.8 แต่หากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ระดับราคาโดยเปรียบเทียบลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 26.7 และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 25.3 สำหรับสินค้าปศุสัตว์ สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตขยายตัว ประกอบกับตลาดภายในประเทศที่มีสัดส่วนสูงกว่าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนการผลิตไก่ต้มสุกแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลยังคงมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ประกอบกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 2 ทำให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนในกลุ่มปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม และอาหารสัตว์หากเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศช่วง 9 เดือนของปี 2552และ 2553 พบว่า ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เป็นผลจากการขยายตัวของการจำหน่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ54.1 28.5 และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อยละ 29.6 เนื่องจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการเมืองดีขึ้น ประกอบกับปัญหาด้านราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัว นอกจากนี้สินค้าน้ำตาลมีการจำหน่ายได้ลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำตาลขาดแคลน จากการที่ได้ส่งออกไปล่วงหน้า ทำให้ต้องมีการปรับการซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนกลับมาใช้ในประเทศ แต่ราคายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 5.1

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,189.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 164,166.4 ล้านบาท โดยหดตัวร้อยละ 12.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 14.3 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือหดตัวร้อยละ 5.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จะพบว่า ภาวะการส่งออกในรูปของมูลค่ามีการขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในรูปดอลลาร์ฯ เนื่องจากระดับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลต่อระดับราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าอาหารไทยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามที่มีการประกาศลดค่าเงินด่อง และประเทศจีนที่ประกาศลดการอุดหนุนการผลิต เนื่องจากต้องการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพของสินค้าอาหารไทยยังเป็นที่น่าเชื่อถือจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การส่งออกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและหากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 จะพบว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.2 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,495.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 47,298.2 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.3 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 10.4 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ในรูปดอลลาร์ฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในรูปเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 5,036.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ161,229.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 13.0 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 5.3 ในรูปเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกในไตรมาส3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากข่าวการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ทางการสหรัฐฯ ประกาศห้ามทำการประมง ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในสินค้าอาหารทะเลจากในประเทศ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง สามารถส่งออกได้ลดลงทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าในรูปดอลลาร์ฯ หรือเงินบาท โดยเฉพาะตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาขยายตัวในอัตราที่ลดลงโดยตลอดในช่วงไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งมาจากระดับราคาที่สูงขึ้นจากค่าเงินบาทและราคาปลาทูน่าที่เป็นวัตถุดิบ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 613.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ19,417.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 10.0 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อนเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบโดยเฉพาะสับปะรดลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือลดลงร้อยละ 6.7 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการที่ปีก่อนเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของผักกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง สามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและราคาส่งออกที่สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 1.4 ในรูปเงินบาท เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของระดับราคาเป็นหลัก
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 487.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ15,422.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 10.3 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.1 ในรูปเงินบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้น และหากพิจารณาเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 3.9 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 1,838.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 58,171.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.7 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.9 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลังขาดแคลนจากปัญหาภัยแล้งและการระบาดของเพลี้ยแป้ง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้หดตัวลงร้อยละ 3.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 9.6 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 11.2นอกจากนี้หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ13.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 5.5 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 349.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ11,045.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.4 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 60.3 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านปริมาณที่ผลิตได้ลดลง ทำให้ไทยมีการทำสัญญาซื้อน้ำตาลกลับมาใช้ในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 28.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 33.2 ในรูปเงินบาท ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบระหว่าง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 39.9 ในรูปเงินบาท จากระดับราคาที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 405.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ12,811.8ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และ 5.3 ในรูปดอลลาร์ฯ และในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 21.0 ในรูปเงินบาท ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ในรูปดอลลาร์ และร้อยละ 8.8 ในรูปเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ และสิ่งปรุงรสอาหาร

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 3,302.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 66,930.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.0 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ51.7 ในรูปเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 ในรูปดอลลาร์ หรือร้อยละ 7.5 ในรูปเงินบาท จากการนำเข้าเมล็ดและกากพืชน้ำมัน และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นทั้งในรูปดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามปริมาณความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น

หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 10.7 ในรูปเงินบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมากที่สุด ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.9 ในรูปเงินบาทรองลงมา คือ กากพืชน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 17.7 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 10.6 ในรูปเงินบาท และนมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 76.3 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 64.9 ในรูปเงินบาท

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบภาวะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่สูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสรุป คือ มาตรการระยะสั้น ให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขยายเวลาการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงออกไปเป็น 82 สัปดาห์จาก 78 สัปดาห์ หรือจนกว่าสถานการณ์ตลาดไข่ไก่จะเข้าสู่ภาวะปกติให้ผู้ส่งออกไข่ไก่ชะลอการส่งออกเป็นการชั่วคราว ยกเว้นกรณีที่มีสัญญาผูกพัน และให้กรมปศุสัตว์บริหารจัดการกระจายลูกไก่ไข่ จำนวน 50,000 ตัวต่อเดือน ให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนลูกไก่ไข่ โดยประสานแผนการผลิตและการกระจายลูกไก่ไข่ร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตลูกไก่ไข่ โดยเฝ้าระวังและติดตามภาวะราคาลูกไก่ และไก่สาว อย่างต่อเนื่อง มาตรการระยะกลาง ให้กรมปศุสัตว์ประสานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาปรับปรุง โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และมาตรการระยะยาว ให้มีพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ไว้เป็นส่วนกลางที่กรมปศุสัตว์เพื่อการบริหารจัดการดุลยภาพในการผลิตและการตลาดในอุตสาหกรรมไก่ไข่ และแก้ไขปัญหาเกษตรกรในกรณีที่ไม่มีลูกไก่ไข่เลี้ยง ทั้งนี้ มอบให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบข้อเท็จจริงและร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์กำหนดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่จะให้กรมปศุสัตว์ถือสิทธิในปริมาณ

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 อนุมัติดำเนินงานโครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 154,200 ไร่ ใน 45 จังหวัด ระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2553 และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมการเกษตร) เป็นหน่วยงานหลักเร่งจัดทำแผนการดำเนินงานและการเตรียมความพร้อมให้ชัดเจนและตรวจสอบได้ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การเตรียมบุคลากร การให้ความรู้แก่เกษตรกร การผลิตขายพ่อแม่พันธุ์หลักแตนเบียน เพื่อใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และมีการติดตามการดำเนินงานและเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่องตลอดจนเร่งทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังที่ต้านทานเพลี้ยแป้งโดยเร็วด้วย และอนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 13.579 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการ

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 เกี่ยวกับโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงาน คือ

1. เห็นชอบโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยของกระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อโครงการฯ ปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้เป็นเงินกู้ตามโครงการฯ แก่ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อยหรือโรงงานน้ำตาล และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยต่อรายหรือต่อกลุ่ม ภายในวงเงินไม่เกิน15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับแต่วันกู้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยโครงการฯ เท่ากับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ระยะที่ 2 คือ MRR-2 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2.0 ต่อปี รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างร้อยละ 2.75 ต่อปี รวมเป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างตลอดระยะเวลาดำเนินงานตามโครงการฯ 288.75 ล้านบาท และผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน โดยแยกวงเงินกู้ออกจากวงเงินกู้ปกติของผู้กู้แต่ละราย ประกอบกับให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของผู้กู้ทุกราย กรณีที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้กู้เงิน ต้องจัดให้มีกรรมการของโรงงานน้ำตาล และหรือบุคคลที่ ธ.ก.ส. พิจารณาเห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน โดยอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างให้ ธ.ก.ส. ในวงเงินงบประมาณ 288.75 ล้านบาท

2. ให้ ธ.ก.ส. รับไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอุดหนุนสินเชื่อให้มีมาตรฐานโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย อาจจำแนกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพื่อใช้ประโยชน์ในการอุดหนุนให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 จัดอยู่ในช่วงชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 จากปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และการแปรรูปผักผลไม้มีปริมาณลดลง แต่หากพิจารณาในช่วง 9 เดือนของปี 2553 จัดอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหากพิจารณาภาพรวมของการผลิตเพื่อการส่งออกกลับได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้เริ่มกลับฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการตลาดในการเจาะตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินของประเทศในเอเชียที่เป็นคู่แข่งก็แข็งค่าตามไปด้วย จึงทำให้โอกาสการส่งออกของไทยยังมีความได้เปรียบโดยเฉพาะหากมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามที่ประเทศคู่ค้าต้องการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี2553 คาดว่า จะมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ที่ขยายตัวตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ได้แก่ อุทกภัยและโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมา และมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น การประกาศมาตรการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารและบังคับปิดฉลากแสดงการปลดปล่อยคาร์บอนของยุโรป และการประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำของสารตกค้างในอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายสินค้าของจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าขนส่งจะปรับตัวลดลง การเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงปลายปี และการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างจีน ยังคงถูกจับตามองและตรวจสอบในความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่นำเข้าจากประเทศจีนอย่างเข้มงวด ทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ