สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 14:12 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2553 IMF คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.8 และแนวโน้มในปี 2554 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.2 ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2553 เนื่องจากปัจจัยการค้าโลกที่ฟื้นตัวและการไหลเวียนของเงินลงทุน แต่ปัญหาอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน รวมถึงการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และยังส่งผลให้ตลาดการเงินมีความเสี่ยงต่อภาวะไร้เสถียรภาพมากขึ้น แต่การขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และอัตราการว่างงานปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ทั้งนี้สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางส่วนใหญ่ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 76.83 USD:Barrel และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Energy Administration Information (EIA)คาดการว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX มีราคาอยู่ที่ 89.38 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 7.9

ในภาคอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 17.5 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าทั้งปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 15-16 และแนวโน้มปี 2554 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 6 - 8

ด้านสถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2553 ในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2553 นั้นการค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 309,087.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.1 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 160,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 148,810.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11,467.5ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2553 จะมีขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2552 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามจากตัวเลขการส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่มีมูลค่ากว่า 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวถึงร้อยละ 29.2 ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงมีการปรับการคาดการณ์การส่งออกของไทยล่าสุด ( ณ ธันวาคม 2553) โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2553 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ร้อยละ 20 ) คือ จะขยายตัวถึงร้อยละ 24-25 คิดเป็นมูลค่า 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2554 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10-15

เมื่อพิจารณาการส่งออกในภาคอุตสาหกรรม 10 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 123,575 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวใกล้เคียงกับการส่งออกในภาพรวมคืออยู่ที่ร้อยละ 29.97 โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงปี 2553 มีอัตราการเติบโตสูงเกินความคาดหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปีขยายตัวในระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในช่วงปี 2540 ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 25 ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวอยู่ในระดับสูงมากมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ อีกทั้งสต๊อกสินค้าของผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ลดลง ทำให้มีความต้องการซื้อทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ รวมถึงฐานที่ต่ำผิดปกติจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2554 การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง จากปัญหาความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่การฟื้นตัวยังมีแนวโน้มเปราะบาง การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing Policy)ของสหรัฐฯรอบที่ 2 หรือการการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้งอาจจะกดดันการแข็งค่าของเงินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย แต่ทั้งนี้ในหลายอุตสาหกรรมอาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2554 จะมีการส่งออกได้เกิน 1 ล้านคันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยรถยนต์ที่จะเป็นตัวผลักดันให้ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น คือ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ ในขณะที่ตลาดส่งออก คาดว่ายังสามารถส่งออกรถยนต์ไปในตลาดหลัก เช่น เอเชีย และโอเชียเนีย เป็นต้น ได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2553 โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้น โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว เครื่องรับโทรทัศน์(CRT) ขนาดมากกว่า หรือเท่ากับ 21 นิ้ว กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า ที่ยังคงปรับตัวลดลง

จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต, เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และ Semiconductor devices transistors ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.61 62.07 และ 41.24 ตามลำดับจากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.88% 11.91% และ 7.20% ตามลำดับ ส่วนภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์1โดยรวมในปี 2554 คาดการณ์ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD IC และเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.72% 5.72% และ 4.90% ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ไอที เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

เคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 39,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.44 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 27,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกประมาณ 53,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.20 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,981 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 12,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ26.19 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

แนวโน้มของอุตสาหกรรรมเคมีภัณฑ์ ปี2554 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการส่งออกที่ดีขึ้น รวมทั้ง การเบิกจ่ายงบโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาทที่มีเป้าหมายอยู่ 85 % ซึ่งเท่ากับ 278,000 ล้านบาทในปี 2553 ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้สามารถนำเข้าเคมีภัณฑ์ได้ถูกลง แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจากการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่จะมีการปรับลดลงในปี 2554 ที่ได้รับ

ปิโตรเคมี

ในปี 2553 คาดว่ามูลค่าการส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 35,247.09, 46,318.85 และ 188,064.38 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.80, 2.65 และ 33.47 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2554 คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของ เศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกประสบภาวะชะลอตัวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 และอาจจะต่อเนื่องไปยังปี 2555 ประกอบกับจีนซึ่งเป็นตลาดปิโตรเคมีหลักในเอเชียมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองมากขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต้นทุนต่ำจากตะวันออกกลางมีแนวโน้มเข้ามาสู่ตลาดเอเชียมากขึ้นอย่างต่อเนื่องปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทย

เหล็กและเหล็กกล้า

สถานการณ์เหล็กโดยรวมของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.10 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.33เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.32 และ 52.29 ตามลำดับ รวมทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.52 และ 16.10 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 203.32 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.11 และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 99.17

อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2554 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ภายใต้ความผันผวนและปัญหาค่าเงิน โดยภาคการก่อสร้างมีโอกาสใหม่ๆ จากการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ในปี 2553 มีการเปิดประมูลและเตรียมงานก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมากจากการผลิต Eco-car ของหลายบริษัท ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง คาดว่าอาจอยู่ในระดับที่ทรงๆ ตัวด้วยข้อจำกัดจากฐานการผลิตที่สูงในปี 2553

ยานยนต์

ในปี 2553 การผลิตรถยนต์มีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลก สำหรับตลาดในประเทศ ได้รับผลดีจากการแนะนำรถยนต์เข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปี 2553 และบางรุ่นยังคงมียอดค้างส่งมอบในขณะที่ตลาดส่งออกยังสามารถขยายตัวในทุกตลาดส่งออก (เอเชีย, โอเชียเนีย, ตะวันออกกลาง,แอฟริกา, ยุโรป, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้) นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากการยกเว้นอากรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน อย่างไรก็ดี การปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานที่ค่อนข้างต่ำใน ปี 2552

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ และจักรยานยนต์ในปี 2554 คาดว่าจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าสภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดภายในประเทศ คาดว่าจะมีการแนะนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ตลาดส่งออก คาดว่ายังสามารถส่งออกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไปในตลาดหลักในของยานยนต์แต่ละประเภทได้อย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์พลาสติก

ปี 2553 มูลค่าการส่งออกสูงสุดคือผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้า เช่น ถุง กระสอบ ต่างๆ รองลงมาได้แก่ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ โดยตลาดส่วนใหญ่คือ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา ด้านดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยขาดดุลการค้ามาตลอด เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าไม่มีการผลิตในประเทศ หรือต้นทุนการผลิต และเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ในช่วงปี 2554 หลังจากสภาวะหลังน้ำท่วมในปลายปี 2553น่าจะมีส่วนทำให้ปี 2554 มีแรงซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่เริ่มซื้อเพื่อซ่อมแซมบ้าน สิ่งก่อสร้างหรือรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ที่จะช่วยผลักดันด้านการผลิตมากขึ้น ด้านตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกยังมีปัจจัยทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกอาจจะเพิ่มโอกาสในการส่งออกมากขึ้น แต่ในสภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ยังสั่นคล่อน ก็ยังต้องมีสิ่งที่พึ่งระวัง ในด้านปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลาสติกนั้น กรณีมาบตาพุด ที่ยังมี 2 โครงการที่ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2554 หลังจากทำรายงาน HIA อีกครั้ง

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง

ในปี 2553 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ คือ ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก และดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 และ 19.3 ตามลำดับการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วนเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ในปี 2553 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี2552 ร้อยละ 1.2, 21.0 และ 21.6 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าจะเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีหน้าจะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจของยุโรป

อาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จากการที่หลายประเทศในยูโรโซนยังประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ทำให้ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างมากในเกือบทุกสินค้าซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2554 คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2553 ร้อยละ 1.0 ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกรอบใหม่ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการประกาศมาตรการกีดกันรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งจะทะยอยประกาศใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ไม้และเครื่องเรือน

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 10.05 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.37 เนื่องจากถึงแม้ว่าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวบวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกระเตื้องขึ้นและส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย แต่ผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดปริมาณการผลิตลง และผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2553 มีปริมาณลดลง

แนวโน้มของการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนอกจากนี้ คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะหันมาเจาะตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะตลาดระดับกลางและระดับบนยังมีศักยภาพ

ผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.40 11.48 และ 7.54ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.50 โดยการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้มในปี 2554 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในปี 2553 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 106.8 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.7 สำหรับภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียนกระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ปี 2553 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 117.4 140.5126.4 และ 189.9 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับเยื่อกระดาษ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.7 10.1 3.7 และ 14.2 ตามลำดับเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคกระเตื้องขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานข้อมูลของ ปี 2552 ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า ปี 2553

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2554 คาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยลบจากปีก่อน อาทิ การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้ตลาดทั้งภายในประเทศ และตลาดโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนในประเทศ จากงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84พรรษา และการคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2553 คาดว่า มีปริมาณ 30,683.8 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.4 โดยปริมาณการผลิตขยายตัวตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง ยาผง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าหลักกลับเข้ามา หลังจากที่ลดลงไปเมื่อปีก่อน และยาครีม จากการที่ผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น

ในปี 2554 ปริมาณการผลิต การจำหน่ายยา และการส่งออกยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมคาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตยาในประเทศเป็นผู้ผลิตยาสามัญ ซึ่งเป็นประเภทของยาที่ตลาดมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น เพราะมีราคาถูก รวมทั้งมียาสิทธิบัตรหลายชนิดที่กำลังจะหมดอายุลงในอนาคต ส่งผลให้ยาเหล่านั้นสามารถนำมาผลิตและจำหน่ายได้ ผู้ผลิตจึงเตรียมที่จะผลิตยาสามัญใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด นอกจากนี้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในปีงบประมาณ 2554 ได้ปรับเพิ่มขึ้นหัวละ 145 บาท เป็นหัวละ 2,546 บาทต่อปี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศ

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และ การผลิตเครื่องแต่งกายฯ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 , 7.9 และ 5.5 ตามลำดับ ส่งผลให้การจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0, 10.8 และ 8.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟ้นื ตัว

แนวโน้มปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่อาจจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า การส่งออกที่คาดว่าชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่น ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวและขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และการส่งออกปีหน้าต้องเผชิญปัญหาจากผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดได้มีการปรับราคาขึ้นร้อยละ 30-40เพราะผลผลิตในประเทศผู้ผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน แอฟริกา และอิหร่าน ประกอบกับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ปูนซีเมนต์

การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 38.79 ล้านตันส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการผลิต 36.22 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 และ 7.93 ตามลำดับ โดยปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ถึงแม้ว่าภาวะการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ประกอบกับในไตรมาสที่ 3 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อมองในภาพรวมทั้งปีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในปี 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวยังคงเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล และส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์เซรามิก การผลิตเซรามิก

ในปี 2553 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อรองรับการเร่งโอนกรรมสิทธิ์จำนวนมาก เพื่อให้ทันกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2553 ทำให้มีการผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 162.76 ล้านตารางเมตร และการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 7.10 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปีก่อนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 14.81 และ 21.01 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มในปี 2554 การผลิตและจำหน่ายเซรามิกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจาก ในปี 2553 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้สิ้นสุดลง และการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด ซึ่งความต้องการจากการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดอาจมีผลต่อเนื่องถึงต้นปี 2554 แต่ความต้องการอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2553

อัญมณีและเครื่องประดับ

ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2553เมื่อเทียบกับปี 2552 ลดลงร้อยละ 1.94 ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2553 จะมีการขยายตัวร้อยละ 17.37 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 6,392.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2554 คาดว่าการผลิตจะขยายตัว ซึ่งจะเป็นไปตามการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว สำหรับด้านการส่งออก ในปี 2554 ปัจจัยบวก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ปัจจัยลบ คือค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสายตาต่างชาติที่จะสูงขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกจะมีผลกระทบด้านดีมากกว่า จึงคาดว่าการส่งออกในปี 2554 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.00

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ