สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(14) หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี2553 คือ มีการชะลอตัวลงทั้งด้านอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยการบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลงทั้งการบริโภคอาหาร สินค้าคงทนประเภทรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ากึ่งคงทนและบริการ แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เช่น รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่ประชาชนก็ยังมีความวิตกต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐหดตัว การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 11.5 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.6 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552ที่หดตัวร้อยละ -7.1 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมาก เช่น อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยานยนต์ เริ่มชะลอตัวลงตามการส่งออก ในขณะที่หมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวสูงขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 เทียบกับในปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.2

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2553 พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 (ม.ค.-ต.ค. 53) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ทั้งในตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 เช่นกัน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

***************************

14 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี2552 โดยทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย

  • แรงส่งจากการขยายตัวในปี 2553 ทำให้มีการขยายตัวต่อเนื่อง
  • การเพิ่มขึ้นของฐานรายได้ของผู้บริโภคฐานรากและระบบเศรษฐกิจโดยรวม จากการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างขั้นต่ำ รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าหลักของทั้งสองประเทศ
  • สถานการณ์ทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ชะลอการลงทุนในประเทศไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ
  • สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรที่มีความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ
  • การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อาจทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2554

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 7.9 ในปี 2553 เป็นผลมาจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2554 ชะลอตัวจากปี 2553 ประกอบกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและรายได้จากการส่งออกสินค้าของไทยรวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2553 ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 17.5 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2553 มีค่า 190.1 และในปี 2552 มีค่า 161.8 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 6 - 8 จากปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วการขยายตัวจึงไม่สูงเท่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต ได้แก่การฟื้น ตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 19.4 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในช่วงปี 2553 มีค่า 191.2 และในปี 2552 มีค่า 160.2 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งเครื่องปรับอากาศ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม2553 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2553ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำ รองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 0.95 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2553 มีค่า 185.2 และในปี 2552 มีค่า 183.5 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive ยานยนต์เหล็ก รองเท้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่าดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะทรงตัวจากปี 2553 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมมีการปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการจะยังคงรักษาระดับของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อการจำหน่ายต่อไป

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดย 10 เดือนแรกของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.4 และในปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 55.2 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปี2553 เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับค่อนข้างสูงแล้ว จนบางอุตสาหกรรมอาจจะต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า78.4 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 (76.9) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต(ตารางที่ 2 ) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต ยังไม่ดีเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหานี้สาธารณะในระดับสูงของประเทศในยุโรปความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2553ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันและในอนาคต

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 เฉลี่ยมีค่า 70.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีค่า66.6 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีและขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม2553 เฉลี่ยมีค่า 69.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีค่า 65.8 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100แสดงว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับที่ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553เฉลี่ยมีค่า 95.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีค่า 88.6 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเองยังไม่ดีนัก

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3 )ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2553 มีค่า 50.7 และในปี 2552 มีค่า 43.5 โดยที่ค่าดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน ในปี2553 มีค่าสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมดการลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะทรงตัวจากปี 2553 เนื่องจาก ยังคงมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เช่น การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท สถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนและทางราชการ รวมถึงภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องเร่งฟ้นื ฟูหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4 ) พบว่า ในช่วงมกราคม - ตุลาคม2553 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 103.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่า 81.3 การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เชื่อว่า สภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2553 ดัชนีมีค่า 98.7 ลดลงจากเดือนกันยายน2553 (100.8) ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 โดยเป็นผลมาจากการปรับลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงในเดือนตุลาคม 2553 ได้แก่ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ประสบภัย โดยผู้ประกอบการประสบปัญหาการผลิตสินค้าไม่ทันตามคำสั่งซื้อ เนื่องจากพนักงานต้องหยุดงาน การคมนาคมขนส่งที่หยุดชะงักในบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

คาดว่าในปี 2554 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมน่าจะทรงตัวจากปี 2553 เนื่องจากยังคงมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลด้านลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังคงเปราะบาง ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท สถานการณ์การเมือง ราคาพลังงานการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้รัฐดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ สร้างแหล่งเรียนรู้และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสร้างความชัดเจนและความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแหงประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3 - 4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 125.4 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2553 (125.8) ร้อยละ 0.3ตามการปรับตัวลดลงของมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่ และดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมันดิบ (โอมาน)ในตลาดโลก

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI ) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 119.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน2553 (120.0) ร้อยละ 0.8 ตามการลดลงของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (รถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์)

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2553 มีค่า 134.5 และในปี 2552 มีค่า 126.6 ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คือ ปริมาณการใช้ประแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์(ตารางที่ 5 )

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี2553 เนื่องจากรัฐบาลยังคงดำเนินการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2555 และหากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6 ) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2553 มีค่า 181.7และในปี 2552 มีค่า 154.0

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ทั้งปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี2553 เนื่องจากในปี 2553 มีการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับปี2552 ดังนั้นปี 2553 จึงเป็นฐานที่สูงสำหรับปี 2554 ประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของรัฐบาล จะส่งให้เกิดการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนต่อไป

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน มีค่า 107.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 (104.3) ร้อยละ 3.4เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจำพวกข้าว เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร รวมทั้งหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม และพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2553 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือน มีค่า 164.6ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 (149.5) ร้อยละ 10.1 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง

สำหรับแนวโน้มปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี2553 เนื่องจากราคาอาหาร พลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนในปี 2553 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนกันยายน 2553) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน39.46 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 39.08 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.04 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.343 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 0.87)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 มีจำนวน 5.50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ14.07 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2553 ในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2553 นั้นการค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 309,087.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.1โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 160,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 148,810.0ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11,467.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2553 จะมีขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี2552 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม—ตุลาคม) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 123,575.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.10) สินค้าเกษตรกรรม 17,076.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 10.65) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 11,067.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.90)และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 8,557.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.34)

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วนั้นมูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกหมวดมีอัตราการเตบิ โตที่ขยายตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยโดยสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.08 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.97สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.25 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.75 สำหรับสินค้าอื่นๆ นั้นมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 531.12

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2553 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 15,573.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯรองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 14,915.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณี และเครื่องประดับ 9,548.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 6,695.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 6,230.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 5,795.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ยาง 5,255.4ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 5,124.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 4,622.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 4,047.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10รายการหลักรวมกันเท่ากับ 77,806.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 48.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 54.86 ของการส่งออกของฃไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งหมดกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 9 ประเทศนั้นมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.71 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.37 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.44 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.61 และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.30

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2553 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 64,351.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.24) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน39,104.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.28) สินค้าเชื้อเพลิง 24,498.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 16.46) สินค้าอุปโภคบริโภค 14,198.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.54) สินค้าหมวดยานพาหนะ 6,441.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.33) และสินค้าอื่นๆ 217.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.15)

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าในหมวดสินค้าอื่นๆ เท่านั้นที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง โดยมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.03 สำหรับสินค้าหมวดยานพาหนะมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.13 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.31 สินค้าทุนเพิ่มขี้นร้อยละ 32.49 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.66 และสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.90

  • แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน 9 ประเทศ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 51.27 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 พบว่าการนำเข้าของทุกกลุ่มประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นนั้นมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.46 สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.08 กลุ่มประเทศอาเซียน 9ประเทศนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.19 และสหภาพยุโรปมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 15.67

แนวโน้มการส่งออก

มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปี 2552 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่มูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2553 อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอลงจากผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกสำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2553 นี้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 183 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนต่อการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ ความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในอาเซียน อีกทั้งสต๊อกสินค้าของผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ ลดลง ทำให้มีความต้องการซื้อทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ในปี 2553การส่งออกยังได้รับผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการขยายตัว ได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาท แนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตามจากตัวเลขการส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่มีมูลค่า 160,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 29.2 กระทรวงพาณิชย์จึงคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2553 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ร้อยละ 20 ) คือ จะขยายตัวถึงร้อยละ 24-25 คิดเป็นมูลค่า 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2554 คาดว่าการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10-15

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2553 มีมูลค่า 337,700 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2553 จะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 645,200 ล้านบาท เนื่องจากการลงทุนในปี 2553 นี้เกิดจากการต่อสิทธิประโยชน์จากปีแห่งการลงทุน อีกทั้งในปี 2553 ไม่มีการลงทุนในโครงการพิเศษที่มีมูลค่าการลงทุนสูง อย่างเช่นโครงการอีโคคาร์ เป็นต้น

----------------------------------------------------------------------------

                                                  2551           2552           2553*
          มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน(ล้านบาท)  432,200        645,200        400,000

----------------------------------------------------------------------------

  • หมายเหตุ : ข้อมูลปี 2553 เป็นตัวเลขการคาดการณ์

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 168,400ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเงินลงทุน 70,900 ล้านบาท หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร มีเงินลงทุน 46,900 ล้านบาท หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 40,400 ล้านบาท หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ มีเงินลงทุน35,600 ล้านบาท หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีเงินลงทุน 23,600 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา มีเงินลงทุน 9,900 ล้านบาท

การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แยกตามกลุ่ม

-------------------------------------------------------------------------------

          อุตสาหกรรม                                       2553 (ม.ค.-ต.ค.)

------------------------------------------------------------------------------

                                                  จำนวนโครงการ         มูลค่าการลงทุน(ล้านบาท)
          เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร                   193                     46,900
          เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ                      25                     35,600
          อุตสาหกรรมเบา                                 61                      9,900
          ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง             213                     40,400
          อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า                    218                     70,900
          เคมี กระดาษและพลาสติก                         147                     23,600
          บริการและสาธารณูปโภค                          373                    168,400
          รวม                                       1,230                    395,700

สำหรับแหล่งลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 276 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 77,875ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการลงทุนจำนวน 21 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน25,209 ล้านบาท สิงคโปร์ 51 โครงการ เป็นเงินลงทุน 18,457 ล้านบาท และประเทศฮ่องกงมีการลงทุน 24 โครงการ เป็นเงินลงทุน 11,605 ล้านบาท

           ประเทศ                 2552                2552 (ม.ค.-ต.ค.)              2553 (ม.ค.-ต.ค.)
                      จำนวนโครงการ     การลงทุน     จำนวนโครงการ   การลงทุน        จำนวนโครงการ   การลงทุน

--------------------------------------------------------------------------------------------

          ญี่ปุ่น             243          58,905          187        44,068             276        77,875
          ไต้หวัน            32           5,341           25         1,908              31         3,702
          ฮ่องกง            14           1,001           13           921              24        11,605
          เกาหลีใต้          31           6,278           19         4,764              38         1,651
          สิงคโปร์           49           14,699          35         1,921              51        18,457
          มาเลเซีย          25           6,389           21         2,007              29         3,984
          อินโดนีเซีย          3           1,331            3         1,331               2           360
          ฟิลิปปินส์            2               3            2             3               -             -
          จีน               15           7,009           11           563              22        11,098
          สหรัฐอเมริกา       37          25,591           33        22,270              37         5,581
          แคนาดา            7             667            7           667               3           104
          ออสเตรเลีย        13             676            7           546              16         6,071
          สหราชอาณาจักร     21           1,943           17         1,852              12           498
          เยอรมัน           21           1,071           21         1,071              26         2,442
          สวิสเซอร์แลนด์      11           2,748            9         2,572              14         8,617
          ฝรั่งเศส           17             772           16           762              16         2,517
          เบลเยียม           7             405            7           405               5         4,292
          อิตาลี              4           2,070            3         2,065               6           455
          เนเธอร์แลนด์       22           3,751           19         3,751              21        25,209

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ