สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 17, 2010 11:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2553 มีประมาณ 8,158,980 เมตริกตัน(ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.10 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยเป็นการผลิตเพื่อชดเชยกับสต็อกสินค้าที่ลดลงในช่วงปีก่อนหน้า ประกอบกับการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกสูงขึ้น ทำให้อัตราการใช้เหล็กยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตจึงผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปีฐาน (ปี 2552) ต่ำเนื่องจากในช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาส่งผลให้การผลิตในปีฐานต่ำ และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.93 โดย เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.44เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.39 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.10 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.38

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญใน ปี 2553 ประมาณ 14,210,985 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปีฐานต่ำ (เนื่องจากในช่วงประมาณต้นปี 2552-ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ผู้ประกอบการยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่จึงทำให้มีคำสั่งซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง) ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ในประเทศของเหล็กในปี 2553 กับ 2552 จึงทำให้ดูตัวเลขเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กทรงแบน ร้อยละ 64.74 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปีนี้ขยายตัวสูงขึ้น (อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะมาจากการนำเข้า ) สำหรับเหล็กทรงยาวมีความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.87

*************************

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2553 มีจำนวนประมาณ311,718 ล้านบาท และ 12,292,615 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ60.32 และ 52.29 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 136.45 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 117.29 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 104.28เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งออกเหล็กเหล็กชนิดนี้ซึ่งมีราคาถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีนมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้เหล็กจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 59,276ล้านบาท เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 45,399 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน มีมูลค่า 30,657 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยูเครน

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2553 มีจำนวนประมาณ 45,419 ล้านบาท และ 1,570,284 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.52 และ16.10 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 203.32 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.11 และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 99.17

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า12,217 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 8,578 ล้านบาท เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 5,241 ล้านบาท

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.10 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.33 เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.32 และ 52.29 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 136.45เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 117.29 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.28 เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งออกเหล็กเหล็กชนิดนี้ซึ่งมีราคาถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีนมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้เหล็กจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.52 และ 16.10 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 203.32 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 118.11 และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 99.17

World Steel Association รายงานว่าผลผลิตเหล็กดิบทั่วโลกในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยผลผลิตในจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 และคิดเป็นร้อยละ 43 ของผลผลิตทั่วโลก สำหรับประเทศอื่น เช่นเยอรมนี อิตาลี ตุรกี ยูเครน แคนาดา และเกาหลีใต้ ผลผลิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ร้อยละ 10 ขึ้นไป โดยใน 10 เดือนแรกของปีผลผลิตอยู่ที่ 1,165 ตัน ซึ่งทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ผลผลิตเหล็กดิบยังคงอยู่ที่ ร้อยละ 17.4 และ ร้อยละ 16.8 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตในเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7

ราคาสัญญาสินแร่เหล็กของไตรมาสที่ 1 ในปีหน้ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยราคาสินแร่เหล็กที่จีนนำเข้าขณะนี้ได้สูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากอุปสงค์ของสินแร่เหล็กในจีนที่เพิ่มขึ้นขณะที่ป ริมาณสินแร่มีอย่างจำกัดในอินเดีย โดยฤดูมรสุมในอินเดียที่เกิดขึ้นล่าสุดทำให้การขนส่งสินแร่ในทิเบตต้องหยุดชะงัก การห้ามส่งออกแร่เหล็กในรัฐ Karnatakaและผู้ผลิตนอกประเทศอินเดียไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากเพียงพอที่จะลดช่องว่างระหว่างปริมาณผลผลิตที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ได้ โดยราคาเฉลี่ยของสินแร่เหล็กของจีนในวันที่ 29 พฤศจิกายนอยู่ที่ 149.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในช่วงนี้ราคาจะอยู่ในช่วง 138.9 -167 เหรียญสหรัฐต่อตัน และคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปีหน้าราคาสินแร่เหล็กที่มีธาตุเหล็ก 65% จากบราซิลจะอยู่ที่139.40 เหรียญสหรัฐต่อตัน (fob) ส่วนราคาแร่เหล็กที่มีธาตุเหล็ก 61.4% จาก Rio Tinto จะอยู่ที่133.50 เหรียญสหรัฐต่อตัน (fob) ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ราคาจะเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสนี้

3.แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2554 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ภายใต้ความผันผวนและปัญหาค่าเงิน โดยภาคการก่อสร้างมีโอกาสใหม่ๆ จากการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ในปี 2553 มีการเปิดประมูลและเตรียมงานก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมากจากการผลิต Eco-car ของหลายบริษัท ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง คาดว่าอาจอยู่ในระดับที่ทรงๆ ตัวด้วยข้อจำกัดจากฐานการผลิตที่สูงในปี 2553

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ