สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 15:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการผลิต

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2553 โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้น โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว เครื่องรับโทรทัศน์(CRT) ขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 21 นิ้ว กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า ที่ยังคงปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต, เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และSemiconductor devices transistors ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.61 62.07 และ 41.24 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 ถึงแม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน แต่อยู่ในอัตราชะลอลง กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของการผลิตในเดือนมกราคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.38 ขณะที่เดือนตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.84 เท่านั้น โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะที่เริ่มฟ้นื ตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะมีการเติมเต็มในส่วนของสินค้าคงคลังที่ลดลงไปและเพิ่มเติมในส่วนของความต้องการที่แท้จริงจากผู้บริโภค โดยการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนด้วยกันเอง และอียู รวมถึงตลาดใหม่ๆ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ที่ได้รับอานิสงค์จากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งนี้แนวโน้มการผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขยายตัวได้ดีในอัตราชะลอลง เนื่องจากเริ่มมีการจำหน่ายสินค้าคงคลังที่ผลิตสะสมจากเดือนก่อน

ภาวะการตลาด

มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าส่งออก 44,226.64 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าส่งออกโดยรวมของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ตลาดสำคัญที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดได้แก่ ตลาดอาเซียน รองลงมาคือ จีนและอียู โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออก 16.85% 14.72% และ 14.64% ตามลำดับ หรือมีมูลค่าการส่งออก7,451.99 ล้านเหรียญสหรัฐ 6,511.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6,473.77 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกและอัตราการขยายตัวค่อนข้างมากทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ขนาดเล็ก กล้อง TV,VDO ตู้เย็น ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ และวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี

โครงสร้างตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 พบว่า ตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อียู และญี่ปุ่น ยังมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกรวม 3ตลาด ค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 39.97% ถึงแม้มีการฟื้นตัวโดยที่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมา การส่งออกหดตัวค่อนข้างสูง ส่งผลให้การส่งออกในปีนี้การส่งออกกลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างสูง

ตลาดอื่นๆ เป็นตลาดที่มีสัดส่วนใน 10 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยในปี2552 มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ 21.98% เพิ่มขึ้น เป็น 24.86% จากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของตลาดไต้หวัน และออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากอานิสงค์ จาก FTA ไทย ออสเตรเลีย ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังไต้หวัน ตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

ภาวะการผลิต

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ทั้งนี้การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกอาทิ เครื่องปรับอากาศ มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวได้มากในกลุ่มประเทศอาเซียน อียู และออสเตรเลีย

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังปรับตัวลดลงอยู่ ได้แก่ โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ20 นิ้ว โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้าปรับตัวลดลงโดยมีอัตราการหดตัว 22.04% 14.30% 6.35% และ 3.65% ตามลำดับ ทั้งนี้กระติกน้ำร้อนได้มีการปรับระบบการทำงานเป็นแบบระบบดิจิตอล ทำให้ราคาสูงขึ้นและมีอุปกรณ์ทำความร้อนชนิดอื่นๆเข้ามาแทนที่ เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้าซึ่งมีราคาถูกกว่า สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ผู้บริโภคหันมาซื้อโทรทัศน์แบบแอลซีดีทีวี และแอลอีดีทีวี แทนการใช้ทีวีแบบเดิม (CRT-TV) และราคาของแอลซีดีทีวี ลดลงจากเดิมค่อนข้างมากตามการส่งเสริมการขาย ทำให้การผลิตโทรทัศน์สี (CRT)ปรับตัวลดลง

ภาวะการตลาด

มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 16,775.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกหลักของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีสินค้าสำคัญในตลาดหลักต่างๆ กล่าวคือ ในตลาดอียูมีสินค้าหลักที่ทำให้ตลาดนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และ กล้องถ่าย TV, VDO ส่วนตลาดอาเซียนและตลาดญี่ปุ่น มีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้าฯสายไฟ ชุดสายไฟและส่วนประกอบและชิ้นส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น

สินค้าส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 62.94% ของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงทั้งสิ้น ยกเว้น เครื่องรับโทรทัศน์สีที่มีมูลค่าส่งออกในช่วงดังกล่าวปรับตัวลดลง 9.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง ในช่วงเดือน ก.พ.- ก.ค. 2553 ที่ผ่านมาโดยมีตลาดส่งออกโทรทัศน์สีทดแทน ได้แก่ ออสเตรเลีย โดยการใช้สิทธิ์ FTA อาเซียน-ออสเตรเลียโดยมีมูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา

โครงสร้างตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 อันดับแรก ประกอบด้วย อาเซียน อียู และญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนรวม 3 ตลาดหลักดังกล่าว 46.56% มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 3ตลาดดังกล่าว ได้แก่ อาเซียน 30.01% อียู 22.41% ญี่ปุ่น 28.83% ทำให้ภาพรวมของการส่งออกโดยรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ตลาดอื่นๆ ของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของมูลค่าการส่งออกและอัตราการขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดอื่นๆ ในปี 2552 มีเพียง 3,813.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ในปี 2553 ในช่วง 10 เดือนแรกตลาดนี้มีการส่งออกถึง 4,342.37ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มตลาดส่งออกที่ได้รับอานิสงค์จากการเปิดการค้าเสรีทางด้านการค้า เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเป็นตลาดส่งออกที่ทำการค้าเป็นหลัก (Trader) เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น

ตลาดอาเซียน

สินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมอเตอร์ขนาดเล็ก และตู้เย็นโดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 48.49% 31.63% และ 27.93% ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนประกอบ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อันเป็นสัญญาณที่ดี ในอนาคตน่าจะมีคำสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาในตลาดอาเซียนมากขึ้นในช่วงถัดไป

ตลาดสหภาพยุโรป

ตลาดอียูถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกเครื่องปรับอากาศมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องปรับอากาศ 23.56% ของมูลค่าส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมด ถึงแม้ค่าเงินบาทต่อยูโรค่อนข้างแข็งค่าขึ้นก็ตาม แต่การส่งออกเน้นในปริมาณที่สูง ซึ่งในช่วงกลางปี 2549 ชะลอลงบ้างจากมาตรการที่มิใช่ภาษี และกลับกระเตื้องขึ้นในปี 2550 และ 2551 พร้อมกับกระแสโลกร้อน สำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2553 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 43.45% ซึ่งคำสั่งซื้อของตลาดดังกล่าวมีผลต่อยอดรวมของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น

ตลาดญี่ปุ่น

ตลาดญี่ปุ่น มีผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า ตู้เย็น และสายไฟ ชุดสายไฟ มีมูลค่าการส่งออก 389.36 ล้านเหรียญสหรัฐ 243.45 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 226.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการผลิต

ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.52เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกและมีอุปสงค์ต่อเนื่องจากสินค้าสำเร็จรูป หากความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้การขยายตัวในส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสินค้า IT เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ Semiconductor devices transistors และ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.24 และ 39.22 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากภาวะความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากตลาดส่งออกของอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นส่วนใหญ่เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา จีน แต่ยังพอมีตลาดส่งออกอื่นๆ ที่ยังคงมีความต้องการอุปกรณ์ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์รองรับอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรเลียอินเดีย ไต้หวัน เป็นต้น จะส่งผลให้ไทยมีคำสั่งซื้อจากส่วนประกอบและอุปกรณ์จากตลาดเหล่านี้เสริมตลาดเดิมได้

ภาวะการตลาด

มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 มีมูลค่า 27,451.39ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.31 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ปริมาณการสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามา โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนเป็นต้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น

ในช่วงมกราคมถึงตุลาคม 2553 สินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก HDD มีมูลค่าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกตลาดที่ส่งออก เช่น อาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา ทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าประเภทนี้ปรับตัวสูงขึ้นนอกจากนี้ราคาของสินค้าส่งออกจะปรับตัวลดลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงปรับตัวสูงขึ้น เมื่อมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์เดิมมีการเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นใน 5 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนและส่วนประกอบพื้นฐานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น ในขณะที่ตลาดที่นำเข้ามีความต้องการในช่วงนี้ค่อนข้างมากโดยเฉพาะจีน เนื่องมาจากส่วนหนึ่งเป็นการนำไปประกอบเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนเอง และส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงภาคธุรกิจที่นำสินค้าไอทีประเภทดังกล่าวไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ที่ทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นนอกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผู้บริโภครายย่อยเท่านั้น

ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่าส่งออกและสัดส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดได้แก่ ตลาดจีน โดยมีมูลค่าส่งออก 5,366.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.03 รองลงมา คือ ตลาดอาเซียน และตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 4,322.55 และ 4,137.33ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.11 และ 27.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวม 3 ตลาดดังกล่าว ร้อยละ 50.37 ของมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

ตลาดจีน

สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศจีน ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออกในช่วงมกราคมถึงตุลาคม 2553 มีมูลค่า 4,237.70 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการส่งออก 27.58% ของมูลค่าส่งออกส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เป็นผลจากการที่ประเทศจีนปรับตัวเป็นประเทศฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีอุปสงค์ในการนำเข้าส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากไทยเพิ่มขึ้น

ตลาดสหรัฐอเมริกา

ตลาดสหรัฐอเมริกา เคยเป็นตลาดหลักของส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นกัน ปัจจุปันเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของส่วนประกอบนี้ มีมูลค่าส่งออกในช่วงมกราคมถึงตุลาคม 2553 มูลค่า 2,700.20 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการส่งออก 17.57% เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการ Logistics และ Supply Chain ที่มีคำสั่งซื้อทางภูมิภาคเอเชียมากขึ้นการผลิตและขายในภูมิภาคเดียวกันจึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ส่วนหนึ่ง

ปริมาณการขายในประเทศช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2553 พบว่าปริมาณการขายในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นโทรทัศน์สี (CRT) ขนาด 20 นิ้ว กระติกน้ำร้อน และโทรทัศน์สี (CRT) ขนาด 21 นิ้ว ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เครื่องปรับอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการจากสภาพอากาศที่ร้อนประกอบกับการส่งเสริมการขาย และการทำโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ที่มีลักษณะซื้อจำนวนมาก

ส่วนโทรทัศน์สี (CRT) มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อโทรทัศน์แบบแอลซีดีทีวี แอลอีดีทีวี และพลาสมาทีวี แทนการใช้ทีวีแบบเดิม (CRT-TV)

ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2553 และคาดการณ์ปี 2554

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนธันวาคม 2553 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงปี 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.93 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมเพรสเซอร์ และตู้เย็น

สินค้าหลักของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออก อียูหลังจากชะลอคำ สั่งซื้อในช่วงปี 2552 นอกจากนี้ตลาดในประเทศได้รับอานิสงค์จากราคาเครื่องปรับอากาศที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการบริโภคสินค้าชนิดนี้ ประกอบกับสภาพอากาศร้อน ทำให้คำสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนอุตสาหกรรมตู้เย็น ในปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 23.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการประมาณการภาวะอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์5คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ประมาณร้อยละ 26.94

ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยรวมในปี 2553 ประมาณการว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ21.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ICปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.35 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลกทำให้มูลค่าการส่งออกเหล่านี้มีการขยายตัวไปยังตลาดหลักที่มีความต้องการอย่างจีน การเปิดการค้าเสรีอาเซียน การฟ้นื ตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

คาดการณ์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปี 2554 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.88% 11.91% และ 7.20% ตามลำดับ ส่วนภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมในปี 2554 คาดการณ์ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD IC และเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.72% 5.72% และ 4.90% ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ไอที เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ