สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 15:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในปี 2553 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 106.8 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.7 สำหรับภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็งกระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ปี 2553 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 117.4 140.5 126.4 และ189.9 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับเยื่อกระดาษ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.7 10.1 3.7 และ 14.2 ตามลำดับ (ตารางที่ 1และตารางที่ 2) เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคกระเตื้องขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศประกอบกับมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย จากปริมาณความต้องการใช้สื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายและบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขึ้น ตลอดจนการส่งไปรษณียบัตร ทายผลการแข่งขันฟุตบอลโลก และการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัดของประเทศไทย นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานข้อมูลของ ปี 2552 ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า ปี 2553

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2553 คาดว่า จะมีมูลค่า 743.5 1,395.8 และ 314.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.4 27.4 และ 65.1 (ตารางที่ 3) หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า ร้อยละ 12.1 44.6 และ 6.1 ตามลำดับ (ตารางที่ 4)

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลง ทำให้มีการนำเข้าสินค้าในการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออกสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษที่สำคัญ ได้แก่ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเยื่อกระดาษที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ เยื่อไม้เคมีที่เป็นเยื่อไม้โซดาหรือเยื่อไม้ซัลเฟตจำพวกไม้สน สำหรับแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ โดยมีการนำเข้ากระดาษประเภทกระดาษและกระดาษแข็งเคลือบ อาบซึมหรือหุ้มด้วยพลาสติกมากที่สุด ส่วนแหล่งนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ สิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าแคตตาล๊อก และของที่คล้ายกัน

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ในปี 2553 คาดว่า จะมีมูลค่า 95.3 1,302.6 และ 1,708.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 8.5 และ 9.0 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก ร้อยละ 0.2 0.1 และ 0.5 ตามลำดับ (ตารางที่ 6)

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านราคาวัตถุดิบผันผวน โดยเฉพาะเยื่อกระดาษที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยตันละ 100-200 เหรียญสหรัฐฯ และการขยายตัวในตลาดอาเซียน จีน และฮ่องกง ซึ่งหากพิจารณาประเภทเยื่อกระดาษที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ เยื่อเคมีจากเส้นใยที่ได้จากกระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับคืนมาใช้ได้อีก ในส่วนประเภทกระดาษที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ กระดาษและกระดาษแข็ง ที่ไม่เคลือบสำหรับพิมพ์เขียน หรือวัตถุประสงค์อื่นทางกราฟิก สำหรับประเภทสิ่งพิมพ์ที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ สิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

3.1 ปีงบประมาณ 2553 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ โดยเน้นด้านการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ การเพิ่มประสิทธิภาพโซ่อุปทานสิ่งพิมพ์ และการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้เพื่อใช้ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ได้รับผลพลอยได้จากการส่งเสริมและพัฒนาดังกล่าว

3.2 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการอ่าน และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป โดยคาดว่า จะให้การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปเพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ซึ่งมาตรการภาษีดังกล่าว จะเป็นการจูงใจให้มีการซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษกระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์

3.3 การลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับสมาคมการพิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี เพื่อร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งระบบให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

3.4 มติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ในส่วนการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการที่ประกอบการอยู่เดิม ซึ่งรวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 (1) และ (2) ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลที่ใช้ในการส่งออก และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2553 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การเลือกตั้งซ่อมในหลายพื้นที่ของไทย และการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ส่งผลให้กำลังซื้อกระเตื้องขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ามาผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออก นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากฐานข้อมูลของ ปี 2552 ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า ปี 2553

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2554คาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยลบจากปีก่อน อาทิ การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่อาจส่งผลให้ตลาดทั้งภายในประเทศ และตลาดโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนในประเทศ จากงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา และการคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ