1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
1.1 ปริมาณการผลิต
การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 38.79 ล้านตันส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการผลิต 36.22 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 และ 7.93 ตามลำดับ
1.2 การจำหน่ายในประเทศ
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรวม 29.42ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 1.22 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 28.20 ล้านตันโดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.19 และ 7.06ตามลำดับ
การผลิตปูนซีเมนต์ และการจำหน่ายในประเทศ ในปี 2553 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เติบโตขึ้น ตามธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คือ มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น
2. การส่งออกและการนำเข้า
2.1 การส่งออก
การส่งออกปูนซีเมนต์ ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 14.60 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 20,380.02 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 3.25 และ 2.18 ตามลำดับ โดยแบ่งออกเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 8.61 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,417.82 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 14.41 และ 20.15 ตามลำดับ สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออก จำนวน 5.99 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,962.20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.09 และ 21.27 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ที่ลดลงนี้ ลดลงเฉพาะในส่วนของปูนเม็ด โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนามีกิจกรรมการก่อสร้างสูง เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมียนมาร์ อีกทั้งปูนซีเมนต์ของไทยยังมีโอกาสขยายไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญ ได้แก่ บังคลาเทศ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2.2 การนำเข้า
การนำเข้าปูนซีเมนต์ ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 11,554.77 ตัน คิดเป็นมูลค่า 157.27 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 426.50 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.35 ล้านบาทปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 11,128.27 ตัน คิดเป็นมูลค่า 149.92 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.57 และ 92.80 ตามลำดับ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้างตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ โครเอเชีย และจีน
3. สรุป
ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ถึงแม้ว่าภาวะการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ ก็มีความล่าช้าออกไปอีก ประกอบกับในไตรมาสที่ 3 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อมองในภาพรวมทั้งปี ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น
ในปี 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวยังคงเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาลและส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2553 ลดลง โดยลดลงเฉพาะในส่วนของปูนเม็ด สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลักของไทย คือ ประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2554 คาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกหลักที่ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยยังมีโอกาสขยายตัวในตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ได้เพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--