สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 15:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิต

ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 , 7.9 และ 5.5 ตามลำดับส่งผลให้การจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0, 10.8 และ 8.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

การส่งออก

ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยจะมีมูลค่าการส่งออกรวม 7,536.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 6,442.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่งออกที่สำคัญ ปี 2553 ได้แก่

1. เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 2,755.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 2,598.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลัก คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สเปน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 39.4, 6.3 และ 6.1 ตามลำดับ

2. ผ้าผืนและด้าย คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 2,416.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1,906.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ จีนเวียดนาม และบังคลาเทศ สัดส่วนร้อยละ 7.5, 7.2 และ 6.0 ตามลำดับ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2553 ตามลำดับ ได้แก่

2.1 ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 1,408.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1,166.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ สิงคโปร์ สัดส่วนร้อยละ 8.8, 7.4 และ 6.1 ตามลำดับ

2.2 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 1,007.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 740.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือจีน ตุรกี และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 9.7, 9.1 และ 8.9 ตามลำดับ

3. เคหะสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 361.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 322.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 26.7, 11.9 และ 7.8 ตามลำดับ

4. เส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 723.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 515.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ อินโดนีเซียเวียดนาม และ ตุรกี สัดส่วนร้อยละ 16.6, 13.2 และ 10.2 ตามลำดับ

5. สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 561.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 460.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดียสัดส่วนร้อยละ 15.6, 14.7 และ 7.7 ตามลำดับ

ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญๆ ของการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ปี 2553 ได้แก่

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอไปสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 1,530.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ และเคหะสิ่งทอ

สหภาพยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 1,385.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ และสิ่งทออื่นๆ

ญี่ปุ่น มีมูลค่าการส่งออก 520.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทออื่นๆ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ

อาเซียน มีมูลค่าการส่งออก 1,319.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ

การนำเข้า

ปี 2553 คาดว่าจะมีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 5,335.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอฯ สำคัญที่นำเข้าได้แก่

เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 892.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 616.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ อินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.6, 21.9 และ 5.9 ตามลำดับ

ด้ายทอผ้า มีมูลค่าการนำเข้า 654.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 428.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.1, 16.5 และ 12.4 ตามลำดับ

ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 1,574.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 1,202.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ จีน ไต้หวัน และ ญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 47.6, 16.1 และ 6.9 ตามลำดับ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้า 324.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 276.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 52.3, 11.3 และ 4.5 ตามลำดับ

เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 289.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 227.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ จีนสัดส่วนร้อยละ 22.0, 18.0 และ 17.7 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2553 ยังมีการผลิตและส่งออกที่ขยายตัว แม้ว่าประเทศไทยจะประสบอุทกภัยในหลาย ๆ พื้นที่ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่เป็นผลกระทบในระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาล่วงหน้า โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าส่งออก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายฝ้าย และด้ายเส้นใยประดิษฐ์เป็นต้น สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายและรองรับเทศกาลในช่วงปลายปี

สำหรับแนวโน้มปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่อาจจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า การส่งออกที่คาดว่าชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่น ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวและขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และการส่งออกปีหน้าต้องเผชิญปัญหาจากผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝ้ายที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมดได้มีการปรับราคาขึ้นร้อยละ 30-40เพราะผลผลิตในประเทศผู้ผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน แอฟริกา และอิหร่าน ประกอบกับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งกระทบต่อการผลิตโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงปัญหาราคาฝ้ายที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรจะผลิตสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหลีกเลี่ยงกับการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ