สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 14:12 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 10.05 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.37 เนื่องจากถึงแม้ว่าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกระเตื้องขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย แต่ผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดปริมาณการผลิตลง และผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2553 มีปริมาณลดลง

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2553 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศรวม 3.89 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.26 เนื่องจากถึงแม้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งผู้บริโภคระมัดระวังและชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป ทำให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2553 มีปริมาณลดลง

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 2,683.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปกี อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.14 เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไปตลาดรองของไทย เช่นออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศสมาชิกอาเซียนขยายตัวได้ดีสำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วยเครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่น ๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,040.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.81 สินค้ากลุ่มครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 39 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 238.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 8.43 สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องใช้ทำด้วยไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,404.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.41สินค้ากลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด และไม้อัด ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่า 567.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.00 โดยการนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้ซุงท่อนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทไม้หรือไม้แปรรูปประเภทต่าง ๆ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2553 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากถึงแม้ว่าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แตผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก และผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดปริมาณการผลิตลง

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2553 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากถึงแม้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังและชะลอการจับจ่ายใช้สอย

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะหันมาเจาะตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะตลาดระดับกลางและระดับบนยังมีศักยภาพ

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไปตลาดประเทศจีน ประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแถบตะวันออกกลาง และแถบเอเซียใต้ ขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากปัจจัยเสี่ยงของการแข็งค่าของเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทยเช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลางมีศักยภาพสูง และโดยเฉพาะประเทศแถบเอเซียใต้ ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินบาท และการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ผู้ประกอบการควรพัฒนาเทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดล่าง และการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งการแสวงหาประโยชน์จาก FTA และการแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ