1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
1.1 การผลิต
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.40 11.48 และ 7.54ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.50
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
1.2 การจำหน่ายในประเทศ
ในปี 2553 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.04 สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในเมื่อเทียบกับปีก่อน มีการปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.22 6.60 และ 3.95 ตามลำดับในส่วนของถุงมือยาง มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.73
การจำหน่ายในประเทศของยางแปรรูปขั้นต้นที่ลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน ยังขยายตัวได้ดี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ในส่วนของถุงมือยางยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
2. การส่งออกและการนำเข้า
2.1 การส่งออก
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 7,377.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.24 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งในปี 2553 คาดว่ามีมูลค่าการส่งออก 6,247.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.22 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ที่ขยายตัวมาก ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ จีนและอินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางจะเพิ่มมากขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเช่นกัน
สำหรับความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นต่อการป้องกันโรคติดต่อ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย
2.2 การนำเข้า
ในปี 2553 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยาง มีมูลค่า 1,723.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.15 การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟ้นื ตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพ่มิ ขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลงFTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นจีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
3. สรุปและแนวโน้ม
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2553 ถึงแม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง รวมทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไป แต่เมื่อมองในทั้งปี 2553 แล้ว อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางยังคงขยายตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย\สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
แนวโน้มในปี 2554 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTAนอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับด้านราคายางพารา คาดว่าจะยังปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่กำลังการผลิตปีนี้กลับมีน้อยลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเป็นฤดูฝน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ปริมาณการผลิตมีน้อย ไม่พอต่อความต้องการที่สูง จึงผลักดันราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--