สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ทั่วไป

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนังเนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการตามแนวโน้มการตลาด หรือตามกลุ่มนักออกแบบชั้นนำของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหนังสัตว์ โดยนำหนังดิบมาผลิตเป็นหนังฟอก และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง ของเล่นสัตว์เลี้ยง สายนาฬิกา เข็มขัด ถุงมือ เป็นต้น อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และต้องพึ่งการส่งออกเป็นสำคัญ การผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว

2. การผลิต

ในปี 2553 มีโรงงานอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ข้อมูลล่าสุด 21 ม.ค. 2553) มีประมาณ 1,009 โรง มีการจ้างงาน 106,050 คน สามารถแยกได้ดังนี้

อุตสาหกรรมฟอกย้อมแต่งสำเร็จหนัง 183 โรง มีแรงงาน 8,113 คน

อุตสาหกรรมรองเท้า 467 โรง มีแรงงาน 70,507 คน

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 359 โรง มีแรงงาน 27,430 คน

ในปี 2553 ดัชนีอุตสาหกรรมของรองเท้าและเครื่องหนังมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • การฟอกและตกแต่งหนังฟอก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 1.3
  • การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 1.2
  • การผลิตรองเท้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.7ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0

3. การตลาด

การส่งออก

การส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังโดยรวมในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 10.1 ซึ่งทุกสินค้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ รองเท้าและชิ้นส่วน, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง, หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2, 21.0 และ 21.6 ตามลำดับ

รองเท้าและชิ้นส่วน ในปี 2553 คาดว่ามีการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 1.2ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น คือ รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่นๆ และ ส่วนประกอบของรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1, 41.8, 47.5 และ 11.9 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลง คือ รองเท้ากีฬา ลดลงร้อยละ 52.7 สำหรับตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น (ม.ค.-ต.ค. 53) ได้แก่ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5, 12.8 และ 1.1 ตามลำดับ

เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ในปี 2553 คาดว่ามีการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 21.0 ทุกผลิตภัณฑ์ส่งออกเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8, 11.7, 17.8 และ 20.3 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น (ม.ค.-ต.ค. 53) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ลดลงร้อยละ 28.6, 4.9 และ52.4 ตามลำดับ

หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ในปี 2553 คาดว่ามีการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 21.6 ผลิตภัณฑ์คาดว่ามีการส่งออกจะเพิ่มขึ้น คือ หนังโคกระบือฟอก, เครื่องแต่งกายและเข็มขัด, หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.3, 7.8 และ 25.5 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์คาดว่ามีการส่งออกลดลง คือ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และถุงมือหนัง ลดลงร้อยละ 34.2และ 2.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น (ม.ค.-ต.ค. 53) ได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม และจีน ลดลงร้อยละ 61.0, 22.3 และ 23.7 ตามลำดับ

การนำเข้า

หนังดิบและหนังฟอก ในปี 2553 คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เพื่อมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา

รองเท้า ในปี 2553 คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 40.1ทุกผลิตภัณฑ์นำเข้าเพิ่มขึ้น คือ รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก และรองเท้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0, 137.2, 15.2 และ 16.2 ตามลำดับ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อินโดนีเซียและเวียดนาม

กระเป๋า ในปี 2553 คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 28.3 ทุกผลิตภัณฑ์นำเข้าเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง , กระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 และ27.0 ตามลำดับ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี

4. สรุปและแนวโน้ม

ในปี 2553 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์คือ ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก และดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 และ 19.3 ตามลำดับ การผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วนเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ในปี 2553 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี2552 ร้อยละ 1.2, 21.0 และ 21.6 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 รวมทั้งการนำเข้าสินค้ากลุ่มรองเท้า และกระเป๋า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันคือ ร้อยละ 40.1 และ 28.3ตามลำดับ

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าจะเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีหน้าจะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจของยุโรป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ